กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2566 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2566 กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 8 – 11 ก.ค. 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอโขงเจียมและสิรินธร) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอเมืองมุกดาหาร และหว้านใหญ่) จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม และธาตุพนม) ภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง (อำเภอนิคมพัฒนา เขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่และเมืองตราด) และภาคใต้ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดตรัง(อำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ ย่านตาขาว เมืองตรัง และห้วยยอด) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเกาะลันตา) จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วป่า และกะปง) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ท่าแพ และควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน)
2. สภาพอากาศ
ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งนี้เนื่องจากคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนผ่านภาคตะวันออก และภาคกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
3. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
3.1 กรุงเทพมหานคร ดำเนินการตรวจสอบและล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เตรียมพร้อมรับฝน เพื่อให้ท่อระบายน้ำไหลได้สะดวก รวดเร็ว ไม่อุดตัน โดยได้ดำเนินการในหลายจุด อาทิ ถนนตรีเพชร ช่วงตรงข้ามห้างดิโอลด์สยาม พื้นที่เขตพระนคร ถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย 4 ช่วงตัดถนนพุทธมณฑลสาย 2 พื้นที่เขตบางแค รางรับน้ำฝนถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ พื้นที่เขตบางแค หมู่บ้านพูนสินไพรเวซี่ร่มเกล้า พื้นที่เขตลาดกระบัง และใกล้คลองพระยาเพชรฝั่งขาเข้า พื้นที่เขตลาดกระบัง
3.2 การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เร่งแก้ปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานานประกอบกับความต้องการใช้น้ำประปาที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แหล่งน้ำดิบของเกาะสมุยลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทบต่อประชาชนและธุรกิจท่องเที่ยว กปภ.จึงเร่งดำเนินการโดยการส่งน้ำประปาผ่านระบบท่อลอดใต้ทะเลจาก กปภ.สาขาสุราษฎร์ธานี และสาขากาญจนดิษฐ์ มายังเกาะสมุยเฉลี่ยวันละ 24,000 ลูกบาศก์เมตร จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ รวมถึงจัดเตรียมโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบท่อส่งจ่ายน้ำในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำสำหรับนำน้ำสะอาดแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนกรณีฉุกเฉิน
4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม ดังนี้ จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง) จังหวัดตราด (อำเภอเกาะช้าง และบ่อไร่) จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วป่า และท้ายเหมือง)