สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2566

ฝ่ายเลขานุการ กอนช. ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมเจ้าท่า ดำเนินการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และท้ายเขื่อนพระราม 6 จ.สระบุรี ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และเหนือเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำท่าจีนสายเก่า และคลองสาขารวมระยะประมาณ 400 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ส่งเรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช แบบสายพานลำเลียง จำนวน 8 ลำ และชุดรถแบ็คโฮ 1 ชุด ดำเนินการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงแม่น้ำป่าสัก หน้าวัดพนัญเชิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อย อ่าววัดช้างน้อย อำเภอบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงบึงหาดกองสิน อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท ว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานได้ภายในเดือนกันยายน 2566 ต่อไป

2. สภาพอากาศ
ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ขอให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และประเทศไทยตอนบน ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และอ่าวไทยตอนบน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ตามที่รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งการให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้สถานการณ์ และข่าวสารด้านน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ นั้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้แถลงข่าวหลังการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำประจำวันอังคาร กล่าวถึงในปัจจุบันภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศ ต่ำกว่าค่าปกติ 25% ซึ่งที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยจำเป็นจะต้องติดตามเฝ้าระวังการใช้น้ำ รวมทั้งต้องติดตามในเรื่องแผนการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องระบายน้ำ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ และใช้เสริมจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเท่านั้น เพื่อให้มีน้ำสำรองกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในอ่างฯ ขนาดใหญ่ให้ได้มากที่สุด โดยล่าสุด ได้ประสานไปยังกรมชลประทาน พิจารณาปรับการจัดสรรน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของคลองบางตาเถร จ.สุพรรณบุรี ประกอบกับมีฝนตกเมื่อสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมิน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำแล้ง ล่วงหน้า 6 เดือน ตามปริมาณฝนคาดการณ์ ONE MAP พบว่า มีพื้นที่ที่มีภาวะความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางของประเทศ และ ยังคงมีพื้นที่ซึ่งเป็นแนวรับลมที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกหนักด้วย จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยสามารถติดตามผ่านทางช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน National Thai water เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที