สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 6/2566

กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่ และเมืองตราด) และภาคใต้ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดตรัง (อำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ เมืองตรัง และห้วยยอด) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า และควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน)

2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการปรับมาตรการเข้ม พร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2566 เพื่อป้องกันและลดผลกระทบแก่ประชาชนที่อาจเกิดขึ้นจากอุทกภัย โดยมี 4 มาตรการดังนี้ 1.มาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฝ้าระวังคุณภาพและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปา จัดเตรียมวัสดุที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาให้เพียงพอ และซักซ้อมการป้องกันระบบผลิต/จ่ายน้ำให้พร้อมอยู่เสมอ 2.มาตรการเผชิญเหตุ โดยเฝ้าระวังเครื่องสูบน้ำมิให้ถูกน้ำท่วมระบบผลิตและระบบส่งจ่ายน้ำประปา 3.มาตรการฟื้นฟู โดยค้นหาความเสียหายที่ อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ระบบสูบน้ำดิบ ระบบผลิตและระบบส่งจ่ายน้ำประปา พร้อมนำรถบรรทุกน้ำสะอาดออกให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และ 4.มาตรการป้องกัน โดยเร่งดำเนินการค้นหาจุดอ่อนที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานระบบผลิตและส่งจ่ายน้ำประปา เพื่อเป็นข้อมูลเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมรองรับในเหตุการณ์ครั้งต่อไป

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะผู้แทน สทนช. ประชุมหารือร่วมกับนายไมค์ เกอลิงก์ (Mr. Mike Girling) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ ศูนย์ระดับโลกด้านการปรับตัว (Global Center on Adaptation :GCA) ณ เมืองรอตเตอร์ดัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
โดยคำนึงถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และได้เห็นชอบร่วมกันในการดำเนินโครงการฝึกอบรมให้กับบุคลากรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับการปรับตัวด้านน้ำในชุมชนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการเข้าพบหารือร่วมกับองค์กรด้านน้ำของเนเธอแลนด์ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีในด้านน้ำระหว่างสองประเทศแล้ว ยังเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำและการรองรับการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศระหว่างไทย และเนเธอร์แลนด์ต่อไป