กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
1.1 กรุงเทพมหานคร ดำเนินการเก็บขยะและวัชพืช เตรียมพร้อมรับฝน โดยได้ดำเนินการในหลายจุด ได้แก่ คลองซอยที่ 9 พื้นที่เขตคลองสามวา คลองลำปลาทิว พื้นที่เขตหนองจอก คลองหนึ่ง พื้นที่เขตลาดกระบัง คลองบางมะเขือ พื้นที่เขตวัฒนา คลองประเวศบุรีรมย์ พื้นที่เขตลาดกระบัง
1.2 การประปาส่วนภูมิภาค รับมือฝนทิ้งช่วง เพื่อลดการขาดแคลนน้ำดิบถาวร เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ไม่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมการจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับรองรับปัญหาดังกล่าวประกอบด้วย 1. สำรวจหาแหล่งน้ำดิบสำรองจากแหล่งน้ำจากบ่อทราย วัดต้นตาล บางสะพานน้อย 2. เพิ่มระบบโมบายแพล้นกรองน้ำ 3. จัดหาแหล่งน้ำเพิ่มของ บริษัท สหวิริยา บริเวณเขากะจิ 4. นำแหล่งน้ำบาดาลมาใช้ 5. การทำฝนเทียม
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
3. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ค. ถึงปัจจุบัน)
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 12,819 ล้าน ลบ.ม. (27%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 15,701 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,049 ล้าน ลบ.ม. (39%)
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ พบว่า ปัจจุบันปรากฎการณ์เอนโซได้เข้าสู่สภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน จึงส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบันปริมาณฝนค่อนข้างน้อย โดยต่ำกว่าค่าปกติ 28% และอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าทุกปี ทำให้ในช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องมาจนถึงฤดูฝน มีการจัดสรรน้ำเพื่อส่งเสริมด้านการเพาะปลูกพืชในจำนวนค่อนข้างมาก จากแผนจัดสรรน้ำฤดูฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะนี้จัดสรรน้ำไปแล้ว 51% ของแผนทั้งหมด เพื่อเป็นการส่งเสริมการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากไม่สามารถปลูกข้าวนาปีโดยใช้น้ำฝนเป็นหลักได้จากผลกระทบของเอลนีโญ โดยขณะนี้ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.84 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 71% ของแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนปีนี้