วันที่ 23 มิถุนายน 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ประชุมหารือร่วมกับทางการกัมพูชาเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานกัมพูชาในประเทศไทย ผ่านระบบ Video Conference พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานประชุมหารือร่วมกับ นายเส็ง ศักกะดา อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาและคณะ เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานกัมพูชาในประเทศไทย โดยฝ่ายไทยได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการแรงงานกัมพูชา ตาม MOU ที่วาระการจ้างงาน ครบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2566 ตามมติครม. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 40,000 คน โดยนำระบบออนไลน์มาให้บริการเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และปรับขั้นตอนให้แรงงานที่เดินทางกลับประเทศต้นทาง สามารถเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ต้องมีระยะเวลาพัก 30 วัน ซึ่งเบื้องต้นมี 9 ขั้นตอน ดังนี้ 1. นายจ้างยื่น Demand และแนบบัญชีรายชื่อแรงงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องของแรงงานผ่านระบบออนไลน์ (www.cambodia-doe.com) 2. กรมการจัดหางานตรวจสอบและรับรองเอกสารที่เกี่ยวข้องผ่านระบบออนไลน์ 3. ฝ่ายกัมพูชาพิจารณารับรองเอกสารและส่งบัญชีรายชื่อแรงงานผ่านระบบออนไลน์ 4. กรมการจัดหางานพิมพ์บัญชีรายชื่อแรงงานออกจากระบบ พร้อมทั้งรับรอง และส่งบัญชีรายชื่อแรงงานให้นายจ้าง 5. นายจ้างยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวและชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 6. กรมการจัดหางานมีหนังสือแจ้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสระแก้ว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 7. ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ขาออก) ตรวจสอบแรงงานในการเดินทางกลับประเทศ 8. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญดำเนินการออก Visa ให้แก่แรงงาน และ 9. ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ขาเข้า) ตรวจสอบแรงงานที่เดินทางออกจากประเทศต้นทาง เพื่อกลับเข้ามาในประเทศไทย
สำหรับกรณีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ตามมติ ครม. วันที่ 5 กรกฎาคม 65 และมติ ครม. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ได้ดำเนินการขออนุญาตทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ครม.มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงาน พร้อมกับจัดทำเอกสารดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายไทยจึงขอให้ฝ่ายกัมพูชาเร่งรัดดำเนินการออกเอกสารประจำตัวให้แรงงานกัมพูชา เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลในการพิจารณาออกเอกสารฉบับใหม่ และดำเนินการตรวจลงตราให้ทันภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ
นอกจากนี้ ฝ่ายกัมพูชายังหารือในประเด็นการปรับลดค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (VISA) จาก 2,000 ลดลงเหลือ 500 บาท ซึ่งฝ่ายไทยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาต่อไป
“การหารือในวันนี้นับเป็นนิมิตรหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการแรงงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และส่งผลให้เกิดความร่วมมือด้านแรงงานอย่างใกล้ชิดต่อไป” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว