กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย” หวังฟื้นเศรษฐกิจในระบบสุขภาพด้านภูมิปัญญาไทย ให้มีศักยภาพ มากยิ่งขึ้น คาดการณ์ว่าปี 2570 ขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยน่าจะเพิ่มขึ้น กว่า 1 แสนล้านบาท ในส่วนกิจกรรมภายในงาน พบกับ การตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก การแพทย์พื้นบ้าน ตลาดความรู้ ประชุมวิชาการ ชิม ช้อป แชร์ ตลาดพื้นเมือง 4 ภูมิภาค กิจกรรมแจกต้นกล้า พันธุ์ไม้สมุนไพร และ เล่นเกมส์ ชิงรางวัลฟรีภายในงาน
วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เภสัชกรหญิงปาริชาติ แคล้วปลอดทุกข์ ผู้เชี่ยวชาญ 10 องค์การเภสัชกรรม นางศิริวรรณ ชัยสมบูรณ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ แพทย์หญิงโศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ร่วมแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และมูลนิธิต่าง ๆ จัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ภายใต้กรอบแนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย”งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 2 กรกฏาคม 2566 ณ ฮอลล์ 11 – 12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
งานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสื่อสารนโยบายและยกระดับวิชาการสู่นวัตกรรมด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านการแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อน อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ในการขับเคลื่อน การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรเพื่อพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพและเสริมสร้างเศรษฐกิจ ของประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชน นักเรียน บุคลากรสาธารณสุข อาจารย์นักศึกษา นักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ แนวโน้มในการเติบโตของสมุนไพรไทยในอนาคต จากสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 ที่ผ่านมา ประชาชนเลือกใช้สมุนไพรในการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้นจนทำให้สมุนไพรเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ตามแผนปฏิบัติการ ด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 มุ่งเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2570 ขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยคาดการณ์ว่าน่าจะเพิ่มขึ้น กว่า 100,000 ล้านบาท โดยแนวโน้มการการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยมีปริมาณสูงขึ้น ทุกปี โดย 3 ปีย้อนหลังพบว่า ปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 52,104.3 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ปี 2564 มูลค่าราว 48,108. ล้านบาท ปี 2563 มูลค่าราว 45,997.9 ล้านบาท จากการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการดำเนินงานภายใต้แนวคิดคนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจไทยมั่งคั่ง (Health for Wealth) นำสุขภาพ มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย และการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ เป็นปัจจัยขับเคลื่อน ซึ่งจะมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดสมุนไพรไทยมีอัตราการเติบโตในอนาคตแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เชื่อมั่น ชอบ และ ใช้ สมุนไพรไทย
ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข มีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายด้านสมุนไพรของประเทศร่วมกับเครือข่ายภายใต้พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 และแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 ครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ ด้านยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติ ด้านวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร ด้านวัตถุดิบสมุนไพร ด้านอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการสมุนไพร และด้านภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร ให้สามารถแข่งขัน ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตามนโยบายและทิศทางการดำเนินงาน กระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นย้ำในเรื่อง สนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนการแข่งขัน ด้านอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ASEAN และ ASEAN+6 ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2560 – 2565 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาของการดำเนินการของแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2565 พบว่ามีอัตราการขยายตัวของตลาดสมุนไพร ที่ร้อยละ 3.4 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนของตลาดสูงสุด 3 อันดับแรก ของประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดพร้อมดื่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับใช้รักษา อาการไอ หวัด แพ้อากาศ และ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ปัจจุบัน แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 -2570 จึงมุ่งเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่อเนื่องในระยะยาว และยังคงเน้นที่จะสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในการ นำสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม จึงสนับสนุนส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพร และยาสมุนไพรซึ่งผ่านกลไกการวิจัยและพัฒนายาจากสมุนไพรซึ่งได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเชื่อมั่นได้ในความปลอดภัย และยังจะส่งผลให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศ ด้านการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 20 ในปีนี้แบ่งกิจกรรมเป็น Health Wealth และ โซนวิชาการ
โซน Health คือ Wisdom และ Service ได้แก่ โซน Wisdom ภูมิปัญญาไทย “กิน อยู่ รู้ รักษา” พบ การนวดพื้นบ้าน เช่น การเหยียบเหล็กแดง นวดจั๊บตะไซจากจังหวัดสุรินทร์,นวดตอกเส้น จากเชียงใหม่ นวดตำรับสามพระยา , นิทรรศการ “เกียรติยศ หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ” 15 หมอไทย เส้นทางการดูแลสุขภาพที่ได้รับ การยอมรับจากชุมชน สังคม และระดับประเทศ กาดมั่ว สาธิต จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ที่พัฒนาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และเรียนรู้ การแพทย์แผนไทยสมุนไพร ในพระไตรปิฎก
โซน Service ให้บริการและให้คำปรึกษาฟรี ด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก คลินิกกัญชาทางการแพทย์ คลินิกรักษาอาการ LONG COVID ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะปีนี้มีการให้บริการ “สุขสำราญนิทราคลินิก” รักษาอาการปวดเรื้อรัง และนอนไม่หลับ พร้อมเปิดตัว “นับหนึ่งคลินิก” การบำบัดฟื้นฟู และลดอันตรายจากยาเสพติด “Harm Reduction Model” และ Palliative care พร้อมให้คำปรึกษาฟรี
โซน Wealth คือ Innovation & Product,Wellness & Thainess, Business Matching แบ่งตามโซนได้แก่
– โซน Innovation & Product พบกับ การพัฒนานวัตกรรมสมุนไพร เช่น การต่อยอดดอกไม้ สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เชิงเศรษฐกิจ การพัฒนาตำรับยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาในรูปแบบ อนุสิทธิบัตร
– โซน Wellness & Thainess พบกับ การนำเสนอ wellness ทั่วทุกภูมิภาค จุด One stop Service ปรึกษา แลกเปลี่ยน การขอรับรองเป็นศูนย์เวลเนสเซนเตอร์ โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพ ที่โดดเด่น ของผู้ประกอบการเวลเนสในแต่ละจังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาค
– โซน Business Matching มีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจสมุนไพรภายในงาน การออกบูธแสดงผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากผู้ประกอบการต่างประเทศ อาทิเช่น เกาหลี มาเลเซีย ศรีลังกา รัสเซีย ลาว การให้คำปรึกษาผู้ประกอบการสมุนไพร (Business Counseling Center)
– โซนวิชาการ พบกับ การประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ที่น่าสนใจ เช่น IMCC International Medical Cannabis Conference 2023 งานสัมมนาวิชาการนานาชาติเรื่องกัญชาทางการแพทย์การรักษาโรค และประสบการณ์ใช้ในการรักษาโรค สำหรับการประชุมวิชาการประจำปีฯ 19 เรื่อง สามารถเข้าร่วมได้ทั้งแบบ Onsite เเละ Online (บางหัวข้อ) เช่น Trend โอกาสความท้าทายผลิตภัณฑ์สมุนไพรระดับสากล, พลิกโอกาส สารสกัดไทย ต่อยอดการส่งออก สร้างเศรษฐกิจไทย, ทิศทาง การขับเคลื่อน และอนาคตการแพทย์แผนไทยในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ, การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรและความท้าท้ายในอนาคต, คุณค่ายาไทยในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นต้น
จัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2566 อีกส่วนที่น่าสนใจคือ การประชุม BIMSTEC กรอบความริเริ่มร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล เมียนมา ศรีลังกา และไทย ในหัวข้อ “Best Practice in Traditional Medicine of BIMSTEC Member States” โดย ร่วมแลกเปลี่ยน Best Practice ในด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ และการจัดบริการการแพทย์แผนไทยฯ ในระบบสุขภาพ
การแถลงข่าววันนี้มีการจัดนิทรรศการที่น่าสนใจ ประกอบด้วย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก “มหัศจรรย์ดอกไม้” และผลิตภัณฑ์นานาภัณฑ์จากดอกไม้ รวมถึง นวัตกรรมสมุนไพรที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในรูปแบบอนุสิทธิบัตร จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ นวด ภูมิปัญญาการตอกเส้น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ชู นวัตกรรมจากภูมิปัญญา สมุนไพรฟื้นฟูดูแลระบบทางเดินหายใจ งานวิจัยสเปรย์ฟ้าทะลายโจรพ่นคอ ฟ้าทะลายโจร นวัตกรรมหลากหลาย ช่วยดูแลสุขภาพพื้นฐาน องค์การเภสัชกรรม ผลิตภัณฑ์เถาวัลย์เปรียง ผลิตภัณฑ์ GPO SIBANNAC เครื่องสำอาง เคอร์มิน และ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบกับการนำเสนอตัวอย่างงานวิจัยจากสมุนไพรไทย ที่มีคุณค่า สู่การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเชิงพาณิชย์