กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมเจ้าท่า ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ภายใต้การบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมขังช่วงฤดูฝน โดยกรมเจ้าท่ารับผิดชอบดำเนินการในแม่น้ำสายหลักท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และท้ายเขื่อนพระราม 6 จังหวัดสระบุรี ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 160 กิโลเมตร แม่น้ำป่าสัก ระยะทาง 50 กิโลเมตร แม่น้ำน้อย ระยะทาง 42 กิโลเมตร แม่น้ำลพบุรี ระยะทาง 67 กิโลเมตร และเหนือเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสะแกกรัง ระยะทาง 20 กิโลเมตร แม่น้ำท่าจีนสายเก่า ระยะทาง 10 กิโลเมตร และคลองสาขารวมระยะประมาณ 400 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ปฏิบัติงานกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ ดังนี้ แม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลแคตก อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลองบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงบึงหาดกองสิน อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท และคลองป่าแสก ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
2. สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 นำเสนอร่างผังน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ณ โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่นระยอง จังหวัดระยอง โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 150 คน ซึ่งผังน้ำเป็นการนำเสนอชุดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงในรูปของแผนที่หรือแผนผังที่แสดงระบบทางน้ำ ซึ่งเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงทางออก โดยผังน้ำจะครอบคลุมไปถึงแหล่งน้ำ ทางน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น อาจมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีหรือบางช่วงเวลาก็ได้ ทั้งนี้เมื่อการจัดทำผังน้ำแล้วเสร็จ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะทราบว่าตนเองอยู่จุดเสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่ คณะกรรมการลุ่มน้ำมีข้อมูลประกอบในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดวางโครงการเพื่อการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง-น้ำท่วม ตลอดจนการอนุมัติ อนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่จะไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนหรือกีดขวางการไหลของน้ำ อีกทั้งผังน้ำดังกล่าวจะนำไปเชื่อมโยงกับผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบต่อไปได้