ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ระยอง (102) จ.ยะลา (77) จ.น่าน (63) จ.สมุทรปราการ (65) จ.กาญจนบุรี (33) จ.บึงกาฬ (24)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,467 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 37,052 ล้าน ลบ.ม. (52%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ไม่พบพื้นที่เสี่ยง
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบประปาบาดาลในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณบ้านประดู่เหลี่ยม หมู่ที่ 17 ตำบลหนองปลิง และบ้านหนองโสน หมู่ 1 ตำบลหนองโสน อำเภอเลาขวัญ บ้านสี่กั๊กหมู่ที่ 6 และบ้านทุ่งกระบ่ำ หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งกระบ่ำ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
กอนช.ติดตามการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
กรมชลประทาน ตรวจสอบพื้นที่ สำรวจสภาพปัจจุบันของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยตลอดวัน ได้มีการลงพื้นที่สำรวจในหลายจุด เช่น พื้นที่จุดที่ตั้งหัวงานเขื่อน แนวถนนทดแทน เส้นทางเดิมที่จะถูกน้ำท่วม พื้นที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงบริเวณชุมชนปลายอ่างเก็บน้ำ
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านใหม่ปางเติม ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และตั้งอยู่บนลุ่มน้ำแม่ขาน (ลุ่มน้ำย่อย ของลุ่มน้ำปิง) มีต้นกำเนิดจากแนวเทือกเขาถนนธงชัย เขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขานและป่าแม่วาง แต่เดิมตลอดลุ่มน้ำแม่วาง ประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งรุนแรง ประชาชนใน 3 อำเภอ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภค-บริโภค กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างฝาย และพัฒนาระบบส่งน้ำไว้ในพื้นที่ด้านล่างแล้ว (จำนวน 11 แห่ง) แต่ขาดแหล่งน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง จะเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มปิงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง เมื่อแล้วเสร็จ สามารถเก็บกักน้ำได้ 25.42 ล้าน ลบ.ม. จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ ประมาณ 48,780 ไร่ ทั้งนี้ในการดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียดรอบด้านและครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน วิถีชีวิตของเกษตรกร และแหล่งท่องเที่ยวของพื้นที่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้โครงการเกิดประโยชน์สูงสุด และมีผลกระทบน้อยที่สุด