รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมทรัพยากรน้ำ สำรวจข้อมูลทางอุทกวิทยา ในพื้นที่ลำน้ำปัว อำเภอปัว ลำน้ำกอน อำเภอเชียงกลาง และลำน้ำฟ้าอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน เพื่อเก็บข้อมูลระดับน้ำ ปริมาณน้ำ และปริมาณตะกอนแขวนลอย เพื่อเป็นฐานข้อมูลทางสถิติอุทกวิทยาในการพิจารณาวางโครงการ สำหรับการวิเคราะห์แหล่งน้ำหาจำนวนน้ำต้นทุน การศึกษาการผันแปรลักษณะทางอุทกวิทยา และการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำทั้งในช่วงฤดูน้ำหลากและน้ำแล้ง รวมทั้งซักซ้อมความเข้าใจแก่พนักงานเก็บข้อมูลด้านอุทกวิทยาและอุตุนิยมวิทยา ในการอ่านค่าระดับน้ำจากไม้วัดระดับน้ำ และรายงานข้อมูลภาคสนามที่ถูกต้องด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าสู่ระบบ ทำให้ทราบถึงข้อมูลระดับน้ำที่อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการตรวจสอบและบำรุงรักษาสถานีอุทกวิทยา-อุตุนิยมวิทยาที่ติดตั้งในพื้นที่จังหวัดน่านเพื่อให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพและพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา

2. สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สทนช ติดตามปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา ของ กปภ.สาขาบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบว่า อ่างเก็บน้ำช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตประปา ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำน้อย คาดว่าจะสามารถใช้ผลิตน้ำประปาได้ประมาณ 2 สัปดาห์ และอาจส่งผลกระทบ “เข้าขั้นวิกฤต” ต่อการให้บริการน้ำประปาในพื้นที่อำเภอบางสะพานน้อยและอำเภอบางสะพาน ซึ่ง กปภ.สาขาบางสะพาน ได้ดำเนินการลดแรงดันน้ำในเขตพื้นที่ให้บริการดังกล่าวแล้วเพื่อบรรเทาผลกระทบ พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้น้ำได้รับทราบสถานการณ์และขอความร่วมมือให้ใช้น้ำอย่างประหยัด

4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยง น้ำหลากดินถล่ม จำนวน 2 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง เขาคิชฌกูฏ และเมืองจันทบุรี) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่ และเขาสมิง)