สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 มิ.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นครนายก (113) จ.กาฬสินธุ์ (83) จ.ลำปาง (60) จ.สิงห์บุรี (47) จ.พัทลุง (19) และ จ.กาญจนบุรี (15)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,717 ล้าน ลบ.ม. (51%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 37,310 ล้าน ลบ.ม. (52%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี ยกเว้นแม่น้ำบางปะกง ค่าออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินงานโครงการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงระหานไกรเชื่อมต่อบึงใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำภาคการผลิตให้กับประชาชนในพื้นที่ ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา จ.ชัยนาท เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถเก็บกักน้ำได้ 0.7840 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 330 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 1,875 ไร่ พร้อมดำเนินงานโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หนองห้วยแสง ต.คูสะคาม อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ประชาชนได้รับประโยชน์ 30 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 60 ไร่

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ภาคตะวันออก จ.นครนายก และระยอง

สทนช. เร่งวางแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมบรรเทาปัญหาอุทกภัยภาคใต้ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 66 โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 4 ดำเนินการเตรียมความพร้อมตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ในพื้นที่ภาคใต้ ดังนี้

• ประชุมคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมขัง ตำบลถ้ำสิงห์ และตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ครั้งที่ 3/2566 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้คณะทำงานฯ ลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางการวางแผนการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการวางแผนโครงการแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้ ได้วางแผนการแก้ไขปัญหาระยะสั้น หากมีฝนตกหนักในพื้นที่ให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารภัยจังหวัดชุมพร เตรียมการรับมือในเบื้องต้น

• ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังรับมือฤดูฝน ณ ศูนย์เตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ชายแดนใต้ จ.ยะลา ซึ่งศูนย์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเฝ้าระวังภัยพิบัติเพื่อป้องกันและลดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินอันเกิดจากเหตุอุทกภัยให้แก่ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดให้มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน ประกอบด้วย เครือข่ายเตือนภัยพิบัติ 1 แห่ง แม่ข่ายหลัก 10 สถานีย่อย รวมทั้งสร้างศักยภาพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีองค์ความรู้ ความพร้อม ผ่านเครือข่ายมากกว่า 1000 คน ซึ่งสามารถรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที