สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 พ.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกรรโชกแรงบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พังงา (109) จ.เพชรบูรณ์ (104) จ.อุทัยธานี (99) จ.ชลบุรี (50) จ.นครราชสีมา (48) และ จ.ราชบุรี (45)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 43,096 ล้าน ลบ.ม. (52%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,674 ล้าน ลบ.ม. (54%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี ยกเว้นแม่น้ำบางปะกง ค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐาน และแม่น้ำท่าจีนค่าออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนบริเวณถนนพระราม 9 เขตบางกะปิ ซอยลาดพร้าว 122 เขตหวังทองหลาง ซอยสุขุมวิท 77 เขตวัฒนา ถนนบางแค เขตบางแค และถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ภาคเหนือ บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.ศรีสะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ภาคกลาง จ.ชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก นครปฐมพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคใต้ บริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อประชุมรับทราบข้อมูลแนวทางการบริหารจัดการน้ำท้องถิ่นตามบริบทชุมชนที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา พร้อมผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมประชุมฯ ด้วย

ทั้งนี้ สถาบันปัญจนิยามได้มีการศึกษา พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของชุมชนให้เกิดความเข็มแข็ง และยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดย สทนช. ร่วมกับสถาบันปัญจนิยาม และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกันพัฒนาต่อยอด ตามนโยบาย สทนช. เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาสถาบันการจัดการน้ำ ให้แก่ภาคส่วนที่สนใจ รวมถึงองค์กรผู้ใช้น้ำเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงตามฐานเรียนรู้เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน เช่น การเติมน้ำลงดินในช่วงหน้าฝนและเชื่อมโยงน้ำใต้ดินในช่วงหน้าแล้ง สร้างความมั่นคงน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และเพื่อการเกษตร การนำน้ำจากอาคารและจากหลังคาลงดิน เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังรอบอาคารในชุมชนบริเวณใกล้เคียง เป็นต้น