กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 14 เมษายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กองทัพบก ดำเนินการจัดยานพาหนะแจกจ่ายน้ำอุปโภค-บริโภคช่วยเหลือ ประชาชนพื้นที่ชุมชน บ้านลุมพุก หมู่ที่ 8 ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะภัยแล้ง เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน ตามโครงการ ราษฏร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง ประจำปี 2566
2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 15 – 16 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทย มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 24,750 ล้าน ลบ.ม. (43%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 20,257 ล้าน ลบ.ม. (42%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,742 ล้าน ลบ.ม. (54%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,751 ล้าน ลบ.ม. (34%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 7,544 ล้าน ลบ.ม. (42%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 20,174 ล้าน ลบ.ม. (43%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 18,052 ล้าน ลบ.ม. (82%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 7,416 ล้าน ลบ.ม. (86%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จัดการประชุมหารือการประเมินสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ณ ห้องประชุม น้ำปิง ชั้น 4 สทนช. และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อคาดการณ์สภาพอากาศโดยได้คาดหมายว่าปีนี้มีแนวโน้มจะเกิดปรากฏการณ์เอลนินโญ่ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งอาจทำให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ โดยสทนช.ได้เสนอมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพื่อเตรียมการรองรับไว้ล่วงหน้า โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีมติเห็นชอบการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง เช่น การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง การเตรียมพร้อม/ วางแผนเครื่องจักร เครื่อง มือ บุคลากร ประจำพื้นที่ การปรับปรุงวิธีการส่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง รวมถึงการเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน เป็นต้น ซึ่งดำเนินการคู่ขนานไปกับการแก้ปัญหาพื้นที่ที่เกิดปัญหาภัยแล้งในช่วงนี้ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือสำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง