กรมหม่อนไหมร่วมประชุมและดูงานการพัฒนางานด้านหม่อนไหมสาธารณรัฐประชาชนจีน

กรมหม่อนไหม นำโดย นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม พร้อมด้วย นางสาวพัชรินทร์ โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมธุรกิจหม่อนไหม และ นางสาวอาทินันท์ อินทรพิมพ์ กงสุล (ฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้) ร่วมประชุมกับหน่วยงานด้านการเกษตรและดูงานด้านหม่อนไหม ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างวันที่ 6 – 8 เมษายน 2566

ทั้งนี้ ได้เดินทางไปดูงานสถาบันหม่อนไหมเจียงซู มณฑลเจียงซู เมืองซูโจว ซึ่งเป็นศูนย์ตรวจสอบคุณภาพไข่ไหมก่อนจำหน่ายเข้าสู่ตลาด ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ในพื้นที่มณฑลเจียงซูทั้งหมด และเป็นหน่วยงานราชการภายใต้กรมการเกษตร แห่งมณฑลเจียงซู จากนั้น ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานภาคการเกษตรของมณฑลเจียงซู ซึ่งประกอบด้วย กรมการเกษตร มณฑลเจียงซู นำโดย Mr.Zhu Pinjun สำนักงานต่างประเทศของเมืองอู๋ซี นำโดย Ms. Ye Zheng และสถาบันหม่อนไหมเจียงซู นำโดย นายYang Hongjian ผู้อำนวยการสถาบันหม่อนไหมเจียงซู เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่มณฑลเจียงซู ซึ่งนับเป็นมณฑลที่มีพื้นที่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมถึง 13,000 ไร่ และมีผลผลิตด้านไข่ไหม รังไหม และเส้นไหมที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในมณฑลเจียงซู

ต่อมา อธิบดีกรมหม่อนไหมและคณะได้ร่วมการประชุมอุตสาหกรรมไหมระดับสูงระหว่างไทย-จีน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจและสมาคมด้านไหมของเมืองซูโจว ณ โรงแรมโนโวเทล เมืองซูโจว เพื่อกระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไหมระหว่าง 2 ประเทศ โดยได้หารือและแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิดด้านหม่อนไหม เทคโนโลยีการผลิตผ้าไหม การส่งเสริมการผลิตและการตลาดสินค้าหม่อนไหม รวมทั้งการบูรณาการอุตสาหกรรมไหมและการพัฒนาผู้ประกอบการไหม ตลอดจนแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านหม่อนไหมในอนาคต

นอกจากนี้ อธิบดีกรมหม่อนไหมและคณะได้เดินทางไปดูงานบริษัท Suzhou Saint – joy Silk Technical Culture ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมผ้าไหมประเภทซ้งจิ่นแห่งเดียวในสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นบริษัทผู้นำในด้านของการผลิตผ้าไหมประเภทดังกล่าว และได้เดินทางไปดูงานบริษัท Suzhou Zhenze Silkroad Agricultural Science and Technology Development Co.,Ltd ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการเพาะปลูก การผลิตทางการเกษตร และการทำการเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว โดยมีการเลี้ยงไหมเป็นอุตสาหกรรมหลักในการดำเนินกิจกรรม และมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนเห็นความสำคัญและสานต่ออาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่ต่อไป