สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 เม.ย. 66

+ ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สตูล (63 มม.) จ.ยะลา (60 มม.) และ จ.นครศรีธรรมราช (43 มม.)

+ น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 25,865 ล้าน ลบ.ม. (45%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 21,294 ล้าน ลบ.ม. (45%)

+ คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

+ กอนช. ติดตามการบริหารจัดการน้ำแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจาก อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กอนช. ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา) โดยกรมชลประทานใช้ระบบโครงข่ายน้ำหรืออ่างฯ พวง มาช่วยในการบริหารจัดการน้ำแบ่งปันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและการขาดแคลนน้ำในภาพรวม พร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการรองรับการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 ดังนี้

1. ผันน้ำอ่างฯ ประแสร์ – อ่างฯ คลองใหญ่ – อ่างฯ หนองปลาไหล

2. ผันน้ำจากอ่างฯ คลองใหญ่ มายังอ่างฯ หนองปลาไหล

3. สูบกลับคลองสะพานเติมอ่างฯ ประแสร์

4. การสูบกลับวัดละหารไร่ (แม่น้ำระยอง) มาเสริมปริมาณน้ำให้แก่อ่างฯ หนองปลาไหล

5. การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสูบใช้น้ำจากคลองน้ำหู

6. สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต/คลองชลประทานพานทองมายังอ่างฯ บางพระ

7. สูบผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมายังอ่างฯ บางพระ

ทั้งนี้ กอนช. ยังได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำในการผลิตน้ำประปา เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภคให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง