วันที่ 30 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น. ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านวิชาการ ร่วมกับ ศาตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) โดยมี นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. นายเกริกเกียรติ กุมารสิงห์ ผู้อำนวยการ สทนช. ภาค 4 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขวัญหทัย ใจเปี่ยม รองอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย และรองศาสตราจารย์สุรสิทธิ์ ระวังวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในครั้งนี้ ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์
การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง สทนช. และ มทร. ศรีวิชัย มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการเสริมศักยภาพบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน และนักศึกษา ด้วยรูปแบบของเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการและประสบการณ์ในพื้นที่ การพัฒนาโครงการศึกษาวิจัย การเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ได้มาตรฐานสากล และขยายผลสู่ชุมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ภาคใต้
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรพื้นฐานที่สำคัญกับทุกชีวิตและทุกกิจกรรมของมนุษย์ รัฐบาลให้ความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบกับพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีเจตนารมณ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมถึงมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดจากการใช้น้ำ
โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนและพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน สทนช. พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กับ มทร. ศรีวิชัย และสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยให้เท่าทันสถานการณ์ และพร้อมรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต
“การลงนามบันทึกความเข้าใจด้านวิชาการในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ สทนช. และ มทร. ศรีวิชัย จะได้ร่วมกันพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ให้พร้อมป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบจากปัญหาด้านน้ำได้อย่างตรงจุดและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ของทั้งสองหน่วยงาน ผนวกกับการพัฒนาและขับเคลื่อนร่วมกันในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สทนช.กล่าว