กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาลงพื้นที่ดำเนินการเป่าล้างบ่อบาดาล ณ บ้านลำพุก ตำบลตาเบา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 204 ครัวเรือน ประชากร 588 คน
1.2 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวง 3 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่จังหวัดตากและจังหวัดสระแก้ว และเพิ่มน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศลาวและด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 28,800 ล้าน ลบ.ม. (50%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 22,600 ล้าน ลบ.ม. (47%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,068 ล้าน ลบ.ม. (60%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,134 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 8,490 ล้าน ลบ.ม. (47%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 22,502 ล้าน ลบ.ม. (47%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 15,821 ล้าน ลบ.ม. (72%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,554 ล้าน ลบ.ม. (76%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยองค์การจัดการน้ำเสีย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทานและกรมองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมทบทวนการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ. 2018 – 2028 ครั้งที่ 2 (UN 2023 Water Conference) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตน้ำทั่วโลกและตัดสินใจในการดําเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่ตกลงกันในระดับสากลและสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่าง ๆ และผลักดันประเด็นด้านน้ำของโลกไปสู่การบรรลุทศวรรษแห่งการดำเนินงานด้านน้ำ (Water Action Decade) โดยในการประชุมดังกล่าวประกอบด้วย 5 สาระสำคัญที่สนับสนุน SDG 6 Global Acceleration Framework ได้แก่ น้ำเพื่อสุขภาพ น้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน น้ำเพื่อสภาพภูมิอากาศ ความยืดหยุ่นและสิ่งแวดล้อม น้ำเพื่อความร่วมมือและทศวรรษของการปฏิบัติการด้านน้ำ