รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำจากสถานีสังเกตการณ์น้ำบาดาลและเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลอุปโภค-บริโภคตามโครงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ทิ้งขยะบริเวณตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 29,887 ล้าน ลบ.ม. (52%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,538 ล้าน ลบ.ม. (49%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,214 ล้าน ลบ.ม. (63%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,135 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 8,843 ล้าน ลบ.ม. (49%)

4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและพบปะประชาชน จ.กระบี่ และ จ.พังงา ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้กล่าวมอบนโยบายให้กับหน่วยงานต่างๆ แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเตรียมสำรองน้ำใช้ให้เพียงพอ ต่อความต้องการของประชาชน มอบ สทนช. ติดตามกำกับหน่วยงานให้ดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด มอบจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และรายงานผลต่อคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อใช้วางแผนแก้ไขปัญหาต่อไป นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.กระบี่ ได้มอบกรมทรัพยากรน้ำสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและเตรียมแผนรับมือให้ทันต่อสถานการณ์ และพื้นที่ จ.พังงา ได้มอบหมายให้กรมชลประทานสำรวจ ซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำและอาคารประกอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อเตรียมแผนรับมือได้ทันสถานการณ์ และต้องสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับประชาชน