ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการเริ่มต้นด้วยความร่วมมือของพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ทำให้เกิดผลประโยชน์หลายประการต่อการดูแล รักษา ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ ทั้งในระดับพื้นที่เองก็มีการทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างพี่น้องเครือข่ายฯ กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ จนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ทำงานระหว่างเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งการทำงานร่วมกันดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศร่วมกับหน่วยงานของรัฐ
ในการนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้ง 24 ชายฝั่งทะเลมาโดยตลอด โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสวยงามและอุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การแก้ไขปัญหาด้านการกัดเซาะชายฝั่ง โดยการใช้แนวคิดการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลน เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติและป้องกันผลกระทบที่จะขึ้นต่อประชาชน ตลอดจนการจัดการและป้องกันขยะทะเล การส่งเสริมการฟื้นฟูป่าชายเลนชุมชนให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเครดิตช่วยลดสภาวะโลกร้อน อีกทั้งส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ป้องกันความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและชุมชน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทส. ยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้น จะอาศัยแต่เพียงภาครัฐคงไม่สามารถกระทำได้ เราต้องอาศัยพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลเข้ามามีส่วนร่วมในการหารือร่วมกัน ผ่านเวทีการประชุมที่เป็นสื่อกลางเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชุมชนชายฝั่ง อย่างเช่นในวันนี้ (17 มีนาคม 2566) ตนได้มีโอกาสลงพื้นที่มาพบปะพูดคุยกับพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ในการประชุมเครือข่ายภาคีชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 4 พร้อมมอบนโยบายและกล่าวชื่นชมเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพิทักษ์รักษา ปกป้องท้องทะเล แนวปะการัง สัตว์น้ำต่างๆ รวมไปถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอื่นๆ ตามบริเวณแนวชายฝั่งของประเทศไทยให้สมบูรณ์
โดยมีนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายสืบสกุล หนูไชยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (เพชรบุรี) และดร.แสงจันทร์ วายทุกข์ ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย ตลอดจนผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมประชุม จำนวน 200 คน ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับนำข้อมูลมาจัดทำกรอบแผนงานเพื่อปฏิบัติการร่วมกับเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ” ที่ปรึกษา รมว.ทส. กล่าวในที่สุด”
ด้าน นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีกลุ่มเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง รวมจำนวน 32 กลุ่ม/602 คน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล รวมจำนวน 2,066 คน ซึ่งมีหน้าที่ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือการปฏิบัติงานกับพนักงานและเจ้าหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในท้องถิ่น อีกทั้งช่วยประชาสัมพันธ์รับแจ้งข่าวสารและเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำหรับการประชุมเครือข่ายภาคีชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 4 นับว่าเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้พี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีบทบาทแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะข้อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติและจังหวัด โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นหน่วยงานสนับสนุนให้คำปรึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีแก่ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการ การปลูก การบำรุงรักษา ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมในเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้ดำเนินการทำงานร่วมกับภาคประชาชน องค์กร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านจัดการ ดูแล รักษาและบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เกิดความร่วมมือในการทำงานเป็นเครือข่ายภาคีฯ ในระดับต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นแนวร่วมด้านบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการทำงานที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้ ตนขอชื่นชมและขอบคุณพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลทุกท่าน ที่เป็นผู้มีจิตอาสาและมีใจรักในทรัพยากร รวมถึงรักในท้องถิ่นอาศัย ซึ่งการเป็นอาสาสมัครนั้นไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครด้านไหนเกิดจากการทำด้วยใจที่ไม่ได้หวังผลประโยชน์ตอบแทน ถือว่าเป็นผู้มีหัวใจของนักอนุรักษ์อย่างแท้จริง และหากท่านพบเห็นการทำลายทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ทั้งด้านการบุกรุกตัดไม้ป่าชายเลน การทำลายปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ขยะทะเล การทำประมงผิดกฎหมาย การล่าและค้าสัตว์ทะเลหายาก การครอบครองซากสัตว์ป่า และการกัดเซาะชายฝั่ง ให้แจ้งเบาะแสมายังสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 หรือสายด่วนพิทักษ์รักษาทะเล โทร.1362 ตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งที่ 5 กรม ทช. จะลงพื้นที่ไปยังจังหวัดกระบี่ เพื่อไปมอบความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแก้ไขปัญหาในทุกๆ ด้าน อีกทั้งเสริมสร้างและสนับสนุนด้านทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน รวมถึงสัตว์ทะเลหายากแก่พี่น้องเครือข่ายชุมชนและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ต่อไป “รรท.อทช. กล่าวทิ้งท้าย”