พช.จับมือ ป.ป.ท. ประสานความร่วมมือในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โครงการแก้ปัญหาความยากจน (กข.คจ.)

วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมประชุมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) โดยมีนายพุฒิพงษ์ เลิศสถิต รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ว่าที่ร้อยโท เจนรบ พละเดช ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ นางสาวอาภรณีย์ เสมรสุต ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 1 นางสุภา สวัสดิ์ประสงค์ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ นางวันเพ็ญ ศรีสังข์ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ นางสาวดารณี ปฐมโยธิน นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ นางสาววรรณฉวี ชื้นจะบก นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ นางทัศนีย์ ชัยคุณแสง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน นายมรกต วิเลิศปรีชาตระกูล ผู้อำนวยการกองนิติการ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 5002 ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า การประชุมหารือการประสานความร่วมมือในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โครงการแก้ปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ในครั้งนี้ ได้มีการแนะนำบทบาทและภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข หาแนวทางร่วมกันในการจัดทำมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการทุจริตในการดำเนินงานโครงการ วางแผนสุ่มลงพื้นที่โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ตามมติ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2536 จานวน 11,608 หมู่บ้าน และมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 เห็นชอบในหลักการโครงการ กข.คจ. ระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2541 – 2544 ขยายพื้นที่ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศที่มีครัวเรือนยากจนตกเกณฑ์รายได้ตามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่เหลืออีก 17,626 หมู่บ้าน รวมจำนวนหมู่บ้านที่ดำเนินงานโครงการ กข.คจ. ทั้งหมด 29,234 หมู่บ้าน โดยสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งเป็นเงินตามโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับหมู่บ้าน จำนวนหมู่บ้านละ 280,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายโอกาสให้คนยากจนในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ได้มีแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ หรือขยายกิจการอาชีพของตน เพื่อเพิ่มรายได้ให้พ้นเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้มีมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการทุจริตในการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ดังนี้

1. การจัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ให้กับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน คณะกรรมการ กข.คจ. ระดับหมู่บ้าน และครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อเป็นขั้นตอนในการดำเนินงาน เทคนิควิธีการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และตัวอย่างแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน

2. จัดตั้งทีมคู่หู คู่คิด (Move for Fund Team) เพื่อใช้ขับเคลื่อนงานกองทุนชุมชน โดยให้อำเภอคัดเลือกคนดี คนเก่ง และมีจิตอาสา จำนวน 4 คน ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีผลการดำเนินงานระดับดี คณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน ที่มีผลการดำเนินงานในระดับดี และปราชญ์ชุมชนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการเงินทุน โดยมีบทบาทหน้าที่ ดังนี้ 2.1 ตรวจสุขภาพทางการเงิน ด้วยแบบประเมินศักยภาพตามหลักธรรมาภิบาล 2.2 ส่งเสริมการออมเชิงคุณภาพ 2.3 ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน 2.4 Mobile Clinic สร้างสุขกองทุนชุมชน บริหารโครงการ บริหารสัญญา และการบริหารหนี้ที่มีประสิทธิภาพ 2.5 ติดตาม ให้คำแนะนำ ประเมินและรายงานผล

3. มีการตรวจประเมินหมู่บ้านโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ตามแบบประเมินศักยภาพโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ตามหลักธรรมาภิบาลทุกปี ซึ่งแบบประเมินดังกล่าวเป็นการนำเอาประเด็นหลักที่เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานตามแนวทางการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) มากำหนดเป็นเกณฑ์การประเมินและยังกำหนดให้มีความสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการกำหนด มาจัดทำเป็นเกณฑ์ชี้วัด จำนวน 18 ข้อ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการป้องกัน และเฝ้าระวังความเสียหายที่จะเกิดกับหมู่บ้าน กข.คจ. โดยให้มีการตรวจประเมินปีละ 1 ครั้ง

4. กรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน ได้มีการลงพื้นที่ติดตามหมู่บ้านโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ทั้ง 4 ภาค เพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ตามระเบียบฯ และแนวทางการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด

5. กรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน ได้แจ้งให้จังหวัดตรวจสอบการรายงานภาวะหนี้สินและฐานะการเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ให้เป็นปัจจุบัน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน และรายงานข้อมูลให้กรมการพัฒนาชุมชนทราบ จากรายงานภาวะหนี้สินและฐานะการเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ประจำปี พ.ศ. 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565) มีหมู่บ้านที่อยู่ระหว่างเร่งรัดติดตามการชำระเงินยืมตามสัญญา จำนวน 71 จังหวัด (ยกเว้นจังหวัดกาฬสินธุ์ ตาก ยโสธร สตูล และจังหวัดสุโขทัย) จำนวน 2,295 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 7.86 ของจำนวนหมู่บ้าน กข.คจ. ทั้งหมด เป็นเงิน 336,911,513 บาท คิดเป็นร้อยละ 3.78 ของจำนวนเงินทุน กข.คจ. ทั้งหมด

6. มีการติดตามเงินทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ที่มีปัญหา การชำระคืนเงินยืมตามสัญญา

กรมการพัฒนาชุมชนเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบเงินทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ที่มีปัญหาด้านการชำระเงินยืมตามสัญญา ในปี พ.ศ. 2565 และรายงานผลให้กรมการพัฒนาชุมชนทราบ ในสัปดาห์สุดท้ายของแต่ละไตรมาส โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้รับรายงานจากจังหวัดที่ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบเงินทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ที่มีปัญหาด้านการชำระเงินยืมตามสัญญา (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มกราคม 2566) จำนวน 71 จังหวัด สามารถลงพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบเงินทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ที่มีปัญหาด้านการชำระเงินยืมตามสัญญาได้ จำนวน 694 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 30.24 ของจำนวนหมู่บ้านที่อยู่ระหว่างเร่งรัดติดตามการชำระเงินยืมตามสัญญา เป็นเงิน 34,830,101 บาท คิดเป็นร้อยละ 10.34 ของจำนวนเงินที่อยู่ระหว่างเร่งรัดติดตามการชำระเงินยืมตามสัญญา