กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ออกมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า แบบทั่วไป หรือ Form CO ทั่วไป สำหรับการส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยให้ผู้ประกอบการต้องตรวจถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ก่อนยื่นขอรับ Form CO ทั่วไป เพื่อป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ในการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นมา คต. ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจาก คต. สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิด (สินค้าเฝ้าระวัง) ซึ่งมีจำนวน 42 รายการ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการขอ Form CO ทั่วไป โดยในปีที่ผ่านมา (สิงหาคม-ธันวาคม 2565) คต. ได้ดำเนินการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า และจัดส่งเอกสารผลการตรวจให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสิ้น 593 ฉบับ แบ่งเป็นสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดไทย จำนวน 584 ฉบับ ได้แก่ ส่วนประกอบรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้ จักรยาน มอเตอร์กระแสสลับอื่นๆ และจักรยานไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ไม่ได้ถิ่นกำเนิดไทยของผู้ประกอบการบางราย มีจำนวน 9 ฉบับ ได้แก่ รถจักรยานสองล้อ จักรยานไฟฟ้า ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ล้ออัลลอย และดุมล้อ เป็นต้น เนื่องจากการผลิตไม่เป็นไปตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศปลายทาง
ในช่วงปี 2565 สินค้าที่ส่งออกจากไทยถูกสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสงสัยว่าอาจมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาสวมถิ่นกำเนิดไทยแล้วส่งออกไปยังประเทศปลายทางดังกล่าว คต. จึงได้ปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง ซึ่งจากเดิมมีจำนวน 42 รายการ เป็นจำนวน 48 รายการ เพื่อให้สอดคล้องกับรายการสินค้าที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้มีการตรวจสอบรวมทั้งปรับปรุงพิกัดศุลกากรของสินค้าเฝ้าระวังดังกล่าวให้เป็นฉบับปี 2022 (HS 2022) ด้วย โดยสินค้าที่เพิ่มเติม จำนวน 8 รายการ จำแนกเป็นสินค้าเฝ้าระวังในการส่งออกไปสหรัฐฯ จำนวน 6 รายการ ได้แก่
1) พื้นไม้อัด
2) ผ้าแคนวาส
3) เหล็กลวดคาร์บอน
4) ท่อเหล็กคาร์บอน
5) ตะปูเหล็ก
6) ลวดเย็บกระดาษ
สินค้าเฝ้าระวังในการส่งออกไปสหภาพยุโรป จำนวน 2 รายการ ได้แก่
1) เหล็กลวดคาร์บอน
2) อะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด
ทั้งนี้ รายการสินค้าที่นำออกจากรายการสินค้าเฝ้าระวังในการส่งออกไปสหภาพยุโรป จำนวน 1 รายการ ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า และสินค้าที่จัดกลุ่มรวมกัน สำหรับการส่งออกไปสหรัฐฯจำนวน 1 รายการ ได้แก่ ฟูกที่นอน ทั้งนี้ บัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวังฉบับใหม่ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ได้มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ออก Form CO ทั่วไป อีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย คต. ได้จัดส่งบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวังฯ ทั้ง 48 รายการ ให้แก่ทั้งสองหน่วยงานทราบ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดในการออก Form CO ทั่วไป ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายการสินค้าเฝ้าระวังที่ต้องยื่นตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าทั้ง 48 รายการ ได้ที่ประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด เพื่อขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 หรือ scan QR code ด้านล่างนี้ และติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือกองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 02-5474808 และ 02-5475132 หรือทาง E-mail: cost-for-co@dft.go.th รวมทั้งสามารถติดตามข่าวสารได้ทาง Facebook: กองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด