รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามการดำเนินงานตามโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เพื่อประสานงานด้านการบริหารโครงการฯ การใช้ประโยชน์จากโครงการฯ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งติดตามระดับน้ำบาดาล คุณภาพน้ำบาดาล และร่วมทำแบบสอบถามความพึงพอใจของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้น้ำ

2. สภาพอากาศ
ประเทศไทยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันโดยมีฝนฟ้าคะนองได้บางพื้นที่ เนื่องจากมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 36,269 ล้าน ลบ.ม. (63%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 29,103 ล้าน ลบ.ม. (61%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,022 ล้าน ลบ.ม. (79%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,143 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,082 ล้าน ลบ.ม. (61%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 28,910 ล้าน ลบ.ม. (61%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 9,359 ล้าน ลบ.ม. (43%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,862 ล้าน ลบ.ม. (45%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงนามบันทึกความเข้าใจการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือด้วยข้อมูลงานวิจัย และการพัฒนาบุคลากรนำไปสู่การใช้ทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืนของประเทศไทย เพื่อบูรณาการความร่วมมือให้เกิดการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยข้อมูล งานวิจัย และการพัฒนาบุคลากร นำไปสู่การใช้ทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืนของประเทศไทย รวมไปถึงรวมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ