วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงแรมโนโวเทล ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการสัมมนาป้องกันการจมน้ำประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ ตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภาไทยเข้าร่วม พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งภาคสาธารณสุข ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน นักวิชาการ และจิตอาสาทั่วประเทศ และผู้แทนทีมผู้ก่อการดี ที่เข้ารับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 500 คน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในระดับโลกและประเทศไทย ในระดับโลกทางองค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันการจมน้ำ จนเกิดเป็นฉันทมติร่วมกันในการป้องกันการจมน้ำเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 และจากรายงานจากองค์การอนามัยโลกพบว่า การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก ที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 รองจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ในแต่ละปีทั่วโลกมีคนจมน้ำเสียชีวิตปีละ 372,000 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 146,000 คน สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลมรณบัตรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555 – 2564) พบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 35,915 คน โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 7,374 คน หรือกล่าวได้ว่า ในทุกๆ วันเราสูญเสียคนไทยจากการจมน้ำถึงวันละ 10 คน
สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้การลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำเป็นเป้าหมายหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยภายในปี 2580 ต้องลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ไม่เกิน 2.5 ต่อประชากรเด็กแสนคน หรือประมาณ 290 คน ซึ่งปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของเด็กอยู่ที่ร้อยละ 6.3 หรือ 667 คน และลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำในทุกกลุ่มอายุ ให้ลดลงจากปี 2560 อย่างน้อยร้อยละ 50 หรือไม่เกิน 1,940 คน ซึ่งปัจจุบันในทุกกลุ่มอายุ มีคนจมน้ำเสียชีวิต 3,990 คน ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญคือ “จะทำอย่างไร ให้คนไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำลดลงตามเป้าหมายที่กำหนด”
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มุ่งเน้นดำเนินงานป้องกันการจมน้ำในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 และตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ดำเนินการ นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2564 เราสามารถลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กลงได้ถึงร้อยละ 55 จากการเสียชีวิตปีละ 1,500 คนในปี 2549 เหลือ 667 คนในปี 2564 อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ส่งผลให้การเสียชีวิตจากการจมน้ำเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ รวมถึง ประเทศไทย ที่พบว่าเพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 10