กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามการใช้ประโยชน์จากจุดบริการน้ำแร่ ในโครงการศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลและการส่งน้ำระยะไกลขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำวิกฤตแล้ง ณ โรงพยาบาลศรีสมเด็จ หมู่ที่ 13 ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด
2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ กับมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 36,942 ล้าน ลบ.ม. (64%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 29,683 ล้าน ลบ.ม. (62%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,114 ล้าน ลบ.ม. (81%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,145 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,354 ล้าน ลบ.ม. (63%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 29,481 ล้าน ลบ.ม. (62%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 8,669 ล้าน ลบ.ม. (40%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,561 ล้าน ลบ.ม. (41%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมชลประทาน จัดประชุมชี้แจงโครงการภายใต้ความร่วมมือของกรมชลประทาน และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ณ ห้องประชุมกรม ชั้น 3 อาคารอำนวยการ กรมชลประทาน เพื่อชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงาน กิจกรรม และผลลัพธ์ของโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่การบริหารจัดการน้ำและวิถีการดำรงชีวิตที่มีข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่ถูกต้องเหมาะสม และสนับสนุนด้านเทคนิคและการใช้เทคโนโลยี รวมถึงแนวปฏิบัติเชิงนวัตกรรม ภายใต้ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2565-2569 พื้นที่ดำเนินการ ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์(โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน) กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ 20,000 ครัวเรือน ประชากร 62,000 คน