รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 มกราคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมชลประทาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสกลนคร ระดมเครื่องจักร เครื่องมือเข้าดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในหนองหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมทั้งยังช่วยป้องกันผลกระทบจากน้ำเน่าเสีย และรักษาคุณภาพน้ำสำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ให้ดีอยู่เสมอ

2. สภาพอากาศ
มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ ยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 38,862 ล้าน ลบ.ม. (67%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 31,365 ล้าน ลบ.ม. (66%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,348 ล้าน ลบ.ม. (86%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,147 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 12,076 ล้าน ลบ.ม. (66%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 31,122 ล้าน ลบ.ม. (66%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,947 ล้าน ลบ.ม. (32%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,787 ล้าน ลบ.ม. (32%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดโครงการ Climate Action Leaders Forum (CAL Forum) รุ่น 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญของการดำเนินงานลดโลกร้อนด้วยความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง และสร้างเวทีสื่อสาร แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่บทบาทการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านผู้นำจากทุกภาคส่วน และบรรลุตามเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Greenhouse Gas Emission ของประเทศต่อไป