รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 22 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 22 มกราคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ตำบลดงมอน อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ระยะที่ 3) ณ ตำบลบางทรายน้อย อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 38,986 ล้าน ลบ.ม. (67%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 31,475 ล้าน ลบ.ม. (66%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,364 ล้าน ลบ.ม. (86%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,148 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 12,133 ล้าน ลบ.ม. (67%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 31,228 ล้าน ลบ.ม. (66%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,832 ล้าน ลบ.ม. (31%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,731 ล้าน ลบ.ม. (32%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
GISTDA จัดเสวนา “ดาวเทียมสำรวจโลกกับการพัฒนาประเทศ” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความพร้อม วางแผนสร้างและพัฒนาดาวเทียมฝีมือคนไทย สร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศ และต่อยอดองค์ความรู้ในการเตรียมการพัฒนาดาวเทียมสำรวจโลกรุ่นต่อไป ทั้งยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลดาวเทียมที่จำเป็นต่อภารกิจต่าง ๆ เสวนาดังกล่าวแบ่งกลุ่มตามภารกิจสำคัญของประเทศได้แก่ ภารกิจความมั่นคง ภารกิจเกษตรกรรม ภารกิจการจัดการผังเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ ภารกิจเฝ้าระวังและติดตามภัยธรรมชาติและทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม และภารกิจทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ตลอดจนหารือปัญหาอุปสรรคที่พบจากการใช้ข้อมูลดาวเทียม ซึ่ง GISTDA และทีมที่เกี่ยวข้องจะวิเคราะห์ทางเทคนิคและวิศวกรรม เพื่อสรุปคุณสมบัติที่เหมาะสม นำไปออกแบบระบบดาวเทียมสำรวจโลกรุ่นต่อไปให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง