วันที่ 18 มกราคม 2566 (เวลา 14.30 น.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางทะเล เพื่อคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพมาตรฐาน
โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยเรืออากาศเอก นายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นประธานในการลงนามฯ ตลอดจนคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผ่านระบบ video conference ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในทะเล รวมถึงประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ฉุกเฉินทางทะเลอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ทำหน้าที่ดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟู และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง ป่าชายเลน รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งปัจจุบันได้มีการทำกิจกรรมทางทะเลอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประมง การท่องเที่ยว การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณชายฝั่ง การสำรวจและวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล โดยการทำกิจกรรมทางทะเลเหล่านี้ อาจมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบคาดไม่ถึง เช่น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกลางทะเลประสบอุบัติเหตุ นักท่องเที่ยวเกิดอาการเจ็บป่วยกำเริบ หรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นในทะเล ทั้งนี้ กรม ทช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินทางทะเลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสนับสนุนสรรพกำลังและยานพาหนะในการเข้าไปช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในทะเล เพื่อให้การช่วยเหลือทางการแพทย์ในเบื้องต้น รวมถึงการส่งต่อทางการแพทย์อย่างทันท่วงที
จากความร่วมมือของแต่ละฝ่ายในการสนับสนุนการปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองสิทธิให้เข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน และให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางทะเล ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระบบการลำเลียงหรือขนส่ง ให้ได้รับการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ดี มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งภาวะปกติและสาธารณภัย รวมถึงเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินกำหนด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ยกระดับการปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินกำหนด และสอดคล้องกับอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของกรม ทช. อย่างไรก็ตาม
ภายหลังจากการลงนามแล้วเสร็จ กรม ทช. จะสนับสนุนเจ้าหน้าที่รวมถึงผู้ปฏิบัติการ อุปกรณ์เครื่องมือ พาหนะทางบก ทางน้ำ ตลอดจนระบบสื่อสารและฐานข้อมูลที่จำเป็น อีกทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการรวมถึงการพัฒนาทักษะและกระบวนการตามมาตรฐานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และเร่งประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจระหว่างองค์กรภาครัฐและประชาชน พร้อมกันนี้ สพฉ. ได้มีการสนับสนุนด้านข้อมูลทางวิชาการ แหล่งข้อมูลรวมถึงวิทยากรในการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ทักษะและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน อีกทั้งสนับสนุนให้มีระบบปฏิบัติการฉุกเฉินที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพัฒนาระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการฉุกเฉิน ตลอดจนสนับสนุนให้มีการศึกษาและฝึกอบรมการปฏิบัติการฉุกเฉินให้กับบุคลากรของกรม ทช.
นอกจากนี้ ประสานงานหน่วยปฏิบัติการแพทย์และสถานพยาบาลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฉุกเฉินของกรม ทช. ในการรับผู้ป่วยฉุกเฉินนำส่งไปยังสถานพยาบาล และเป็นศูนย์กลางประสานกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการปฏิบัติการฉุกเฉิน ต่อไป “นายอรรถพล กล่าวในที่สุด”
ด้าน เรืออากาศเอก นายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่าสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการกำหนดมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ขอขอบคุณกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นอย่างยิ่ง ที่เล็งเห็นคุณค่า ความจำเป็นที่ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทียกระดับการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำและทางทะเลโดยการบูรณาการทรัพยากรในการสนับสนุนการปฏิบัติการฉุกเฉินให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางน้ำและทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะจัดทำมาตรฐาน เกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการแพทย์ และหน่วยปฏิบัติการอำนวยการให้สอดคล้องกับภารกิจหรือความเหมาะสมในการดำเนินการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สนับสนุนให้มีระบบปฏิบัติการฉุกเฉินที่เหมาะสม รวมถึงสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ แหล่งข้อมูล วิทยากรในการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ทักษะและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินเป็นศูนย์กลางประสานงานหน่วยปฏิบัติการแพทย์ หน่วยปฏิบัติการอำนวยการ และสถานพยาบาล เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฉุกเฉินของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการรับผู้ป่วยฉุกเฉินนำส่งไปยังสถานพยาบาล อีกทั้งเป็นศูนย์กลางประสานหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการปฏิบัติการฉุกเฉินอีกด้วย