วันที่ 13 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. ท่านอธิบดีมอบหมายให้ นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วย นายจารุโรจน์ ภู่ประเสริฐ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม นายประหยัด ตะคอนรัมย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร นายปราโมทย์ พรหมทอง วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง นายสมชาติ จิตใหญ่ วิศวกรไฟฟ้าชำนาญการพิเศษ สำนักวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ร่วมกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ
เพื่อติดตามการดำเนินโครงการด้านทรัพยากรน้ำพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาคร โดยในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
1) โครงการพัฒนาแก้มลิงทุ่งหิน ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อออกแบบวางผังแม่บท เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ควบคู่กับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการ เพื่อความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีองค์ประกอบโครงการแบ่งเป็น 6 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ทางจักรยานและภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่แก้มลิงทุ่งหิน ส่วนที่ 2 ศูนย์กีฬาบริการชุมชนและพื้นที่นันทนาการ (บริเวณเกาะกลางฝั่งทิศตะวันออก) ส่วนที่ 3 ศูนย์กีฬาทางน้ำและส่วนบริหารโครงการ (บริเวณเกาะกลางฝั่งทิศตะวันออก) ส่วนที่ 4 แหล่งเรียนรู้ป่า 3 อย่าง ประโยชน์4 อย่าง (บริเวณเกาะกลางฝั่งทิศตะวันตก) ส่วนที่ 5 ศูนย์ศึกษาระบบนิเวศแก้มลิงทุ่งหิน (บริเวณเกาะกลางฝั่งทิศตะวันตก) และส่วนที่ 6 แหล่งเรียนรู้โคก หนอง นา (บริเวณเกาะกลางฝั่งทิศตะวันตก) รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,500 ไร่ เมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและแหล่งผลิตน้ำประปา เพื่อการอุปโภค-บริโภค การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งในอนาคตสามารถพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ และเป็นเส้นทางเพื่อสุขภาพในกิจกรรมเดินวิ่งและปั่นจักรยาน ทั้งยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชา แหล่งศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนและพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่น เป็นศูนย์กีฬาทางน้ำที่รองรับการแข่งขันในระดับชาติ ซึ่งจะตอบสนองกลุ่มการท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี
2) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักและระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองสมุทรสงคราม (ระยะที่ 1 ) อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบระบบระบายน้ำหลัก และระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งการศึกษาดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2565 แล้ว โดยโครงการประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำแม่กลองพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ 2 จุด เชื่อมต่อกับคันป้องกันเดิมที่ได้ดำเนินการแล้ว ความยาว 2,400 เมตร 2. งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ (คลองบางแก้ว) ความยาว 2,500 เมตร 3. งานก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก จำนวน 4 จุด เพื่อเชื่อมต่อระบบระบายน้ำเดิม ความยาว 660 เมตร 4. งานก่อสร้างอาคารชลศาสตร์ (ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ) จำนวน 17 แห่ง โดยมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์รวม 7.75 ตารางกิโลเมตร มีประชากรได้รับประโยชน์ จำนวน 26,240 คน หรือคิดเป็น 10,260 ครัวเรือน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ โบราณสถาน วัดวาอาราม และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสงครามได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอน และเมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ กรมฯจะดำเนินการส่งมอบโครงการให้เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม เพื่อตั้งงบประมาณในการดูแลบำรุงรักษา ตามกรอบระยะเวลาต่อไป
และ 3) โครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง ปัญหาน้ำทะเลหนุน และปัญหาน้ำล้นตลิ่งไหลเข้ามาท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเมืองสมุทรสาคร ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเข้ามาศึกษาออกแบบตั้งแต่ปี 2546 และทยอยทำการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและคันป้องกันน้ำท่วมในเขตพื้นที่ตำบลท่าฉลอม มหาชัย โกรกราก บางหญ้าแพรก ท่าจีน บางกระเจ้า นาโคก บ้านบ่อ บางโทรัด บ้านเกาะ และท่าทราย ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ในส่วนของพื้นที่ตำบลท่าทรายมีพื้นที่ตลิ่งที่ต้องดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและคันป้องกันน้ำท่วม ความยาวรวม 9.98 กิโลเมตร ก่อสร้างในช่วงปี 2553 – 2556 แล้วเสร็จความยาวรวม 5.31 กิโลเมตร ดำเนินการในปี 2566 จำนวน 1 โครงการ ความยาว 0.50 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างการประกวดราคา และเสนอแผนขอรับงบประมาณปี 2567 จำนวน 2 โครงการ ความยาวรวม 2.60 กิโลเมตร ในพื้นที่ส่วนที่เหลือจะได้เสนอขอรับงบประมาณในปี 2568 เป็นต้นไป
กรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะหน่วยงานช่างที่มีภารกิจด้านการพัฒนาเมือง และดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง โครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ซึ่งดำเนินการภายใต้คำร้องขอจากพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และความเสียหายจากสถานการณ์ต่างๆ โดยก่อนจะดำเนินโครงการกรมฯ เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ดำเนินโครงการภายใต้การทำงานแบบราษฎร์ – รัฐ ร่วมใจพัฒนา และบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง