อธิบดีแพทย์แผนไทยฯ ลงพื้นที่พัทลุง มอบนโยบายชัด ไม่แข่งขันกับหมอแผนปัจจุบัน ผลิตหมอแผนไทยเก่งเฉพาะทางเน้นโรคเรื้อรัง

อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกลงตรวจเยี่ยมแพทย์แผนไทยจังหวัดพัทลุง มอบนโยบายไม่แข่งขันกับแพทย์ แผนปัจจุบัน เน้นการผสมผสานการแผนไทยเข้าระบบสุขภาพ ผลักดันแพทย์แผนไทยรักษากลุ่มอาการโรคเรื้อรัง นอนไม่หลับ และรักษาผู้ป่วยยาเสพติด สนับสนุนแพทย์แผนปัจจุบันสั่งยาแผนไทยทดแทนยาแผนปัจจุบัน ชงเภสัชกรให้ข้อมูลแก่แพทย์ เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพแก่ประชาชน

นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมคณะ ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นและมอบนโยบายด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดย กล่าวภายหลังลงพื้นที่เพื่อดูความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สาขาเขตสุขภาพที่ 12 ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ว่า จังหวัดพัทลุงมีศักยภาพในการใช้สมุนไพร และภูมิปัญญาจากการใช้สมุนไพรในการรักษาโรค สมุนไพรหลายตัวที่สำคัญของพัทลุง เช่น ขมิ้น ไพล ฟ้าทะลายโจร เถาวัลย์เปรียง จากพืชสมุนไพรในท้องถิ่นดังกล่าวทำให้สามารถพัฒนาและเพิ่มศักยภาพเข้าสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และนำมาใช้ในระบบบริการสุขภาพ เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ ดังนั้นการสร้างศูนย์การแพทย์แผนไทยฯ เขตสุขภาพที่ 12 นี้ จึงเป็น ส่วนหนึ่งในการศึกษา พัฒนาการแพทย์แผนไทย และ สมุนไพร เพื่อจัดการความรู้ภูมิปัญญาในระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะแบ่งศูนย์การแพทย์แผนไทยแห่งนี้เป็นต้นแบบด้านการแพทย์แผนไทยในด้านการศึกษาวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เขตสุขภาพอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นรูปแบบการบริการและการรักษา โดยใช้องค์ความรู้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายชุมชน พัฒนาระบบบริการผสมผสานร่วมกับหมอพื้นบ้าน การพัฒนาการแพทย์ แผนไทยในระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน จึงควรพัฒนาบทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงาน สหวิชาชีพ และการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์แผนไทยในชุมชนและหมอพื้นบ้านในชุมชน ทั้งนี้เพื่อสามารถ หนุนเสริมความรู้ให้กันและกันเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของชุมชนได้อย่างยั่งยืน อีกเรื่องที่สำคัญ การจะให้การแพทย์แผนไทย นำการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นคงยาก ดังนั้นจึงควรเน้นการผสมผสานแผนไทยเข้าไปในระบบสุขภาพ โดยเอาจุดแข็งของการแพทย์แผนไทยเข้ามาใช้ ดังนั้นการขับเคลื่อนการแพทย์แผนไทยในปี พ.ศ. 2566 จึงมีแนวทางที่จะผลักดันให้แพทย์แผนไทยมีความเด่นเฉพาะทาง (specialist) นำองค์ความรู้มาใช้ในการรักษา อาการปวดเรื้อรัง อาการนอนไม่หลับ (Chronic Pain & Insomnia) รวมถึงการรักษาผู้ป่วยยาเสพติด จากยาบ้าและเฮโรอีน

จากนั้น อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมโรงพยาบาลป่าบอน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง โรงพยาบาลป่าบอนมีจุดเด่นในการบูรณาการแพทย์แผนไทยในระบบสุขภาพชุมชน ในปี พ.ศ. 2453 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงงานการผลิตสมุนไพรแบบ WHO-GMP ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลแรกๆที่ผ่านเกณฑ์นี้ และเป็นรพ.แรกๆ ในภูมิภาคที่เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลป่าบอนจึงเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการผลิตยาจากกัญชาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากมาย ปัจจุบันมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย โดยในปี พ.ศ. 2563 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษากว่า 861 ราย ถึงแม้ในปี พ.ศ. 2564-2565 ผู้รับบริการจะลดลงเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ผู้ป่วยก็สามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์แผนไทยจากหน่วยบริการอื่นๆที่เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยได้มากขึ้น โรคที่เข้ารับการรักษา 3 อันดับแรก คือ มะเร็ง อาการนอนไม่หลับ และปวดเรื้อรัง ปัจจุบันมียากัญชา 4 ตำรับ ที่ใช้มากคือ น้ำมันกัญชาอาจารย์เดชาและยาสุขไศยาสน์ นอกจากคลินิกกัญชาแล้ว ที่นี่ยังสามารถผลิตยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางได้ 33 รายการ โดยมีส่วนต่างกำไรคิดเป็น 113,000 บาท นับเป็นการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ในโรงพยาบาลมีโรคหลายโรคที่ใช้การแพทย์แผนไทยรักษาได้ดี เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเรื้อรัง โรคนอนไม่หลับ การรักษาผู้ติดยาเสพติด ต้องพัฒนาให้แพทย์แผนไทยเป็นแพทย์เฉพาะทางในการดูแลรักษาโรคเหล่านี้ และผมคิดว่า ในระดับโรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงพยาบาลทั่วไป หากแพทย์แผนปัจจุบันสั่งยาแผนไทยทดแทนยาแผนปัจจุบัน โดยอาศัยเภสัชกรเป็นดีเทลยาให้ข้อมูลแก่แพทย์ เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพแก่ประชาชน และต้องมีการจัดทำ program เพื่ออำนวยความสะดวกให้แพทย์ในการสั่งยาแผนไทยให้แก่ผู้ป่วยด้วย ส่วนทางด้านโรงงานผลิตยามีจุดอ่อนที่ค่อนข้างมาก เช่น มาตรฐาน demand-supply จำนวนรายการผลิตที่มากเกินไป ทำให้ขาดทุน ดังนั้นโรงพยาบาลที่มีการผลิตยา จึงควรได้มาตรฐาน WHO-GMP จำกัดการผลิตไม่เกิน 5-10 รายการยา เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และควรมีการวางแผนการผลิตยาในเขตสุขภาพอย่างเหมาะสมด้วย” นายแพทย์ธงชัย กล่าวทิ้งท้าย