สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 ธ.ค. 65 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรงภาคเหนือตอนบนมีฝนเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.เชียงราย (17 มม.) จ.พระนครศรีอยุธยา (10 มม.) และ จ.สงขลา (7 มม.)

น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 41,779 ล้าน ลบ.ม. (72%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33,970 ล้าน ลบ.ม. (71%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กรมชลประทาน ให้ความช่วยเหลือ ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

พื้นที่ จ.สระบุรี ได้ดำเนินการเก็บขยะคลองส่งน้ำสายใหญ่คลองเพรียว กม.1+757 บริเวณท่อลอดถนนพหลโยธิน เพื่อส่งน้ำในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา กำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ บริเวณคลองน้ำท่วม ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

พื้นที่ จ.สุพรรณบุรี กำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำบางยี่หน ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

กนช. เห็นชอบร่างแผนหลักฯ กว๊านพะเยา จ.พะเยา และเวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย พร้อมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ป้องกันน้ำท่วม-แล้ง ให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นประธานการประชุม กนช. ครั้งที่ 4/2565 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี การดำเนินงานตาม 13 มาตรการฤดูฝน และ 10 มาตรการฤดูแล้ง และมีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูกว๊านพะเยา จ.พะเยา พื้นที่ประมาณ 12,831 ไร่ เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มความจุเก็บกักพื้นที่ตอนบนอีก 6.546 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มปริมาตรเก็บกักในกว๊านพะเยา 9.275 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่สามารถบำบัดได้ 1.62 ล้าน ลบ.ม./ปี พื้นที่รับประโยชน์ 154,981 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 160,000 ครัวเรือน ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มมูลค่าไม่น้อยกว่า 43.8 ล้านบาท/ปี ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม 31,776 ไร่ นอกจากนี้ยังได้มีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย มีเนื้อที่ 14,091 ไร่ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุเก็บกักเป็น 24.22 ล้าน ลบ.ม. (เพิ่มขึ้น 17.83 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำที่ผันเข้าพื้นที่ 35.00 ล้าน ลบ.ม./ปี พื้นที่รับประโยชน์ 49,792 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 14,531 ครัวเรือน ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม 13,300 ไร่