กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (งบลงทุน) ณ บ้านเขาภูหีบ หมู่ที่ 3 ตำบลไทยอุดม อำเภอคลองหาด และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (งบลงทุน) ณ บ้านทรัพย์นิยม หมู่ที่ 2 ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 4 ธันวาคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง อีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วงวันที่ 2 – 3 ธ.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลซียและภาคใต้ตอนล่าง คาดว่า ในช่วงวันที่ 4 – 5 ธ.ค. 65 จะเคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,687 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,752 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,777 ล้าน ลบ.ม. (94%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,158 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,161 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,375 ล้าน ลบ.ม. (75%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,627 ล้าน ลบ.ม. (7%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 406 ล้าน ลบ.ม. (5%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมผังน้ำครั้งที่ 3 รับฟังความเห็นต่อร่างผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ที่โรงแรมนานาบุรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานเปิดการประชุมผังน้ำครั้งที่ 3 เวทีที่ 1 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน สำหรับการจัดทำผังน้ำ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม แสดงพื้นที่แหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติ และเมื่อเกิดภาวะน้ำหลากสามารถแสดงทิศทางการไหลของน้ำในระบบผังน้ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและไม่ทำให้เกิดการรุกล้ำทางน้ำ นอกจากนี้ ผังน้ำยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพิจารณาความเหมาะสมการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ว่าอยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือไม่ รวมถึงควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบผังน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้เป็นทางน้ำโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เป็นสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ