คคบ. ลงดาบผู้ประกอบธุรกิจละเมิดสิทธิผู้บริโภค เรียกเงินคืนกว่าเจ็ดแสนบาท

วันจันทร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๕ ณ ห้องประชุม ๕ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

จากการประชุม ได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๓ เรื่อง (ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างต่อเติมบ้าน และให้นิติบุคคลซ่อมแซมห้องชุดและชำระค่าเสียหายทรัพย์สิน) ธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน ๙ เรื่อง (ขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ซื้อสินค้า ซื้อตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ต ซื้อบริการเสริมความงาม ซื้อทัวร์ท่องเที่ยวทั่วไทย ซื้อรถยนต์ใช้แล้ว สัญญา จองรถยนต์) รายละเอียด ดังนี้

ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๓ เรื่อง

๑. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นเงินจำนวน ๒,๑๓๘,๐๐๐ บาท โดยชำระเป็นเงินจอง ๕,๐๐๐ บาท เงินทำสัญญา ๓๕,๐๐๐ บาท และเงินดาวน์ ๑๒๑,๖๐๐ บาท ต่อมาผู้บริโภคไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จึงมีความประสงค์ขอเงินที่ชำระทั้งหมดคืน แต่ได้รับการปฏิเสธจากบริษัท กรณีดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิ์ริบเงินจองและเงินทำสัญญา
ส่วนเงินดาวน์ต้องคืนให้กับผู้บริโภค เมื่อบริษัทฯ ไม่คืนเงินดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจฯ เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ๑๒๑,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามกฎหมาย

๒. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างต่อเติมบ้านเดี่ยว ๒ ชั้น กับบริษัทแห่งหนึ่ง จำนวน ๒๔๐,๐๐๐ บาท โดยมีผู้รับจ้างเป็นผู้ลงนามในสัญญา และไม่มีการประทับตราสำคัญและลงลายมือชื่อ
โดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทฯ ต่อมาบริษัทฯ ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอให้บริษัทเข้าดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา หรือชดใช้ค่าเสียหาย แต่บริษัทแจ้งว่าไม่ได้เป็นคู่สัญญากับผู้บริโภค การกระทำของบริษัทฯ จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และบริษัทอ้างว่าผู้รับจ้างได้ทำสัญญากับผู้บริโภคในนามส่วนตัวเอง เมื่อผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามสัญญา จึงต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคทั้งหมด เมื่อผู้รับจ้างไม่สามารถคืนเงินได้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้รับจ้าง เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน ๑๕๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๓. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาเช่าห้องพักกับบริษัทแห่งหนึ่ง มีกำหนดระยะเวลาเช่า ๑๒ เดือน อัตราค่าเช่าเดือนละ ๖,๕๐๐ บาท ผู้บริโภคได้ชำระเงินประกันห้องพักจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๑,๕๐๐ บาท ต่อมาผู้บริโภคได้ย้ายออกจากห้องพัก โดยแจ้งล่วงหน้าเกิน ๓๐ วัน และได้ย้ายออกจากห้องพักและขอเงินประกันคืน แต่บริษัทฯ แจ้งว่าจะขอคืนเงินประกันให้ครึ่งหนึ่ง กรณีดังกล่าว ผู้บริโภคยินยอมที่จะให้หักค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า จำนวน ๔,๕๘๒.๕๐ บาท และค่าเสียหายอย่างอื่นรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒,๕๘๒.๕๐ บาท ดังนั้น เมื่อบริษัท ไม่สามารถพิสูจน์ค่าเสียหายอื่นได้อีก จึงต้องคืนเงินที่เหลือให้กับผู้บริโภค เมื่อไม่สามารถคืนได้ การกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจฯ เพื่อให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน ๔,๕๘๒.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการ รวมจำนวน ๙ เรื่อง

๑. กรณีผู้บริโภคได้ว่าจ้างให้บริษัทแห่งหนึ่ง ขอวีซ่าเพื่อเดินทางจากประเทศสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์มาประเทศไทย ราคา ๕๑,๔๓๐ บาท แต่ปรากฏว่าผู้ถูกร้องไม่สามารถดำเนินการขอวีซ่าตามสัญญาได้ จากการพิจารณาเอกสารหลักฐานแล้วเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายต่างได้แสดงเจตนาไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญา จึงถือได้ว่าได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาต่อกันแล้ว

โดยบริษัทจะต้องคืนเงินทั้งหมดให้กับผู้บริโภค แต่เมื่อบริษัทไม่คืนเงินจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน ๕๑,๔๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๒. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อสินค้ากับผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่ง จำนวน ๕ ชิ้น และได้ทำบันทึกข้อตกลงคืนเงินให้ผู้บริโภค แต่ปรากฏว่าไม่มีการคืนเงินค่าสินค้ารายการที่ ๓ (กระเป๋าชาแนล) ซึ่งเป็นเงินจำนวน ๑๓,๓๒๕ บาท ให้แก่ผู้บริโภค และเมื่อพิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้วเห็นว่า ผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ยินยอมคืนเงินค่าสินค้าให้ ดังนั้น จึงเป็นการกระทำผิดบันทึกข้อตกลงอันเป็นสัญญาประนีประนอม
ยอมความ มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๑๓,๓๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๓. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ต 2020 Cantabile Philharmonic Orchestra with Park Yu Chun จากบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นจำนวนเงิน ๖,๗๕๑.๔๕ บาท ปรากฏว่ามีการเลื่อนการแสดงคอนเสิร์ตออกไปและให้รับชมคอนเสิร์ตผ่านเทปบันทึกการแสดง ผู้บริโภคจึงได้แจ้งขอเงินคืนจากบริษัทผ่านช่องทาง Facebook แต่บริษัทไม่คืนเงินให้ เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานเอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนหรือชดใช้เงินให้แก่ผู้บริโภค

การที่บริษัทไม่ยินยอมคืนหรือชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๖,๗๕๑.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๔. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อบริการเสริมความงามกับผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่ง ในราคา ๔๐,๐๐๐ บาท ต่อมาสถานบริการได้ปิดกิจการลง และเมื่อพิจารณาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เห็นว่า ผู้ประกอบธุรกิจเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค การที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอมคืนหรือชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๕. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อทัวร์ท่องเที่ยว กับบริษัทแห่งหนึ่ง ราคา ๓๙,๙๙๙ บาท และจองที่พักที่ประเทศญี่ปุ่น ๓ ห้องนอน จำนวน ๖ ราย แต่ปรากฏว่าบริษัทฯ ไม่สามารถให้บริการได้ตามสัญญาเมื่อพิจารณาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้วเห็นว่าบริษัทฯ ไม่ให้บริการตามสัญญา จึงเห็นควรพิจารณามอบหมายให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเสนอเรื่องต่อศาล เพื่อสั่งให้บริษัทฯ จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหาย ที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร

รวมถึงให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับบริษัทฯ ให้ร่วมรับผิดชอบในหนี้ที่บริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีต่อผู้บริโภค และผู้บริโภครายอื่น ๆ มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๗๘,๙๙๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๖. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อรถยนต์ใช้แล้ว ยี่ห้อ Mercedes-Benz กับบริษัทแห่งหนี่ง ราคา ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท โดยบริษัทฯ มอบสัญญาการรับประกันคุณภาพรถยนต์ ๓ ปี หรือ ๑๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน ซึ่งสิ้นสุดการรับประกันฯ ในปี ๒๕๖๔ ต่อมาประมาณกลางปี ๒๕๖๓ ท่อกรองอากาศรถยนต์ได้ชำรุด จึงได้นำเข้าแก้ไข แต่บริษัทฯ ปิดให้บริการ ๒ เดือน เนื่องจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) และแจ้งว่าจะขยายระยะเวลาการรับประกันตามเวลาที่ศูนย์บริการปิด ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาการรับประกันคุณภาพรถยนต์ ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ผู้บริโภคได้นำรถยนต์เข้าซ่อมแต่ได้รับแจ้งว่า รถยนต์คันพิพาทสิ้นสุดการรับประกันคุณภาพแล้ว

จึงได้นำเข้าซ่อมกับบริษัทอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่าย เป็นเงินจำนวน ๑๔,๖๒๗.๙๗ บาท และได้ติดต่อบริษัทฯ แรกให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงขอความเป็นธรรม มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้ คืนเงิน จำนวน ๑๔,๖๒๗.๙๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเสนอเรื่องต่อศาล สั่งให้บริษัทฯ ชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

๗. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อรถยนต์ใช้แล้ว ยี่ห้อ Mercedes-Benz ราคา ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท โดยบริษัทฯ สัญญาว่าจะมอบค่าน้ำมันเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๖ ปี นับแต่วันซื้อรถยนต์ ปรากฏว่า บริษัทฯ ไม่ชำระค่าน้ำมันให้กับผู้บริโภคตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ โดยอ้างเหตุเงื่อนไขว่า ผู้บริโภคผิดสัญญา ไม่นำรถยนต์คันพิพาทเข้ารับบริการกับบริษัทฯ กรณีดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหาย จึงขอความเป็นธรรม เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับค่าน้ำมันเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๖ ปี เป็นกรณีที่บริษัทฯ ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากสัญญาที่ได้ทำไว้ ข้อตกลงลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา

ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ตามข้อตกลงดังกล่าวในการชำระค่าน้ำมัน จำนวน ๗๒ งวด รวมเป็นจำนวนเงิน ๑๔๔,๐๐๐ บาท และการอ้างเหตุเงื่อนไขว่าผู้บริโภคกระทำผิดสัญญา โดยเป็นเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนดขึ้นใหม่ จึงไม่ใช่เหตุที่จะอ้างตามกฎหมายเพื่อปฏิเสธการชำระค่าน้ำมันได้ จึงเห็นได้ว่าบริษัทกระทำผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ๙๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเสนอเรื่องต่อศาล สั่งให้บริษัทฯ ชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

๘. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อรถยนต์ใช้แล้ว ยี่ห้อ Mercedes-Benz กับบริษัทแห่งหนึ่ง ราคา ๒,๓๑๐,๐๐๐ บาท โดยสัญญาระบุระยะเวลาการรับประกันคุณภาพรถยนต์ ๓ ปี หรือ ๑๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร หรืออย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน ฟรีค่าแรงและค่าอะไหล่ และมอบบัตรเติมน้ำมันเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นเวลา๖ ปี ต่อมาก่อนหมดระยะเวลาการรับประกันคุณภาพ รถยนต์คันพิพาทหลังคารั่วซึม ซึ่งบริษัทฯ ปฏิเสธการซ่อม และไม่ชำระค่าน้ำมันทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ซึ่งการอ้างเหตุเงื่อนไขว่า รถยนต์คันพิพาทสิ้นสุดระยะเวลาการรับประกันคุณภาพแล้ว และปฏิเสธไม่ชำระค่าน้ำมัน จึงไม่ใช่เหตุที่บริษัทฯ จะอ้างตามกฎหมายเพื่อปฏิเสธ

การชำระค่าน้ำมันได้ ทั้งการปฏิเสธไม่ชำระค่าน้ำมันในงวดค่าน้ำมันซึ่งแม้จะไม่ถึงกำหนดชำระ ถือได้ว่าเป็นการสละประโยชน์เงื่อนไข จึงเห็นได้ว่าบริษัทฯ ได้กระทำผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ๑๐๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และบังคับให้บริษัทฯ ซ่อมหลังคารถยนต์คันพิพาทโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเสนอเรื่องต่อศาล สั่งให้บริษัทฯ ชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

๙. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจองรถยนต์ยี่ห้อ มิตซูบิชิ ราคา ๑,๐๙๙,๐๐๐ บาท กับบริษัท แห่งหนึ่ง และพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถรุ่น ปี ๒๐๑๘ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาฯ เนื่องจากผู้บริโภค ได้ตกลงกับบริษัทฯ ว่ารถยนต์ที่ทำการจองเป็นปี ๒๐๑๙ และจดทะเบียนปี ๒๐๒๐ กรณีนี้ถือว่าบริษัทฯ ในฐานะผู้ขายเป็นฝ่ายผิดสัญญา เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ผู้บริโภคจึงมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน ๑๐๐,๙๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๕ ได้มีการดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน ๑๒ ราย โดยบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๗๙๐,๓๐๔.๙๒ บาท (เจ็ดแสนเก้าหมื่นสามร้อยสี่บาทเก้าสิบสองสตางค์)