ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้ นายฌอง ท๊อด ร่วมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนน ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือ 12 คน ต่อประชากร 1 แสน ภายในปี 2570

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทน ให้ นายฌอง ท๊อด (Jean Todt) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านความปลอดภัยทางถนน เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการขนส่งของเอสแคป ครั้งที่ 7 โดยมี นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้แทนจากกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ พร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP Foundation) และสมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย (Motorcycle Enterprise Association Thailand: TMEA) เข้าร่วมหารือ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสต้อนรับ นายฌอง ท๊อด และคณะ โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนในมิติต่าง ๆ ประกอบด้วย

1. สถานการณ์ด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย โดยตระหนักว่าประเทศไทยยังคงมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและภูมิภาค โดยเฉพาะสถิติที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ ถึงแม้ว่าตัวเลขในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ลดลง แต่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเฉพาะในเป้าประสงค์ที่ 3.6 ด้านความปลอดภัยทางถนน และได้มีการกำหนดแผนงานต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลก

2. แผนงานและโครงการต่าง ๆ ด้านความปลอดภัยทางถนน อาทิ การพัฒนาความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานทางหลวงและทางหลวงชนบท โดยได้มีการดำเนินโครงการติดตั้งแผ่นยางครอบแบริเออร์และติดตั้งเสาหลักนำทางยางธรรมชาติเพื่อลดความรุนแรงจากการปะทะเนื่องจากอุบัติเหตุทางถนน โดยปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการแล้วเสร็จ (พ.ศ. 2563 – 2565) ระยะทาง 150 กิโลเมตร และกรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการแล้วเสร็จ (พ.ศ. 2563 – 2565) ระยะทาง 100 กิโลเมตร การจัดทำแผนแม่บท MR-Map ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาระบบคมนาคมในอนาคต โดยรูปแบบ MR-Map เป็นการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ การสร้างความตระหนักต่อพฤติกรรมด้านการขับขี่และยานพาหนะที่ปลอดภัยทั้งยานพาหนะส่วนบุคคลและสาธารณะโดยที่ผ่านมาได้มีการติดตั้งระบบ GPS ในรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกเพื่อควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับ ตลอดจนการใช้ระบบการตัดคะแนนความประพฤติสำหรับผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ นอกจากนี้ยังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นการช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

3. การสร้างความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนนในอนาคต กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณจากกองทุนสหประชาชาติด้านความปลอดภัยทางถนน (UN Road Safety Fund) เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ในประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการจัดทำแผนแม่บทด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ 12% ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ภายในปี ค.ศ. 2027 ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงคมนาคมกับองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ เอสแคป (UNESCAP) องค์การอนามัยโลก (WHO) และ UN – Habitat รวมถึงสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) และมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (Road Safety Policy Foundation) โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 30 เดือน ระหว่างเดือนมกราคม 2566 – กรกฎาคม 2568 ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการมุ่งสู่การแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนนและยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ

นอกจากนี้ได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนหารือกับภาคเอกชนในการร่วมบูรณาการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนนในมิติต่าง ๆ รวมถึง การดำเนินโครงการร่วมกับภาครัฐ เพื่อปูทางไปสู่การสร้างความร่วมมือในอนาคต ตลอดจนผลักดันการพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป