สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ตรวจสารพันธุกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนให้กับประชาชน 7 จังหวัดภาคอีสาน
นายแพทย์ศราวุฒิ สุจริตธรรม โฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มนิติเวชคลินิก กองนิติวิทยาศาสตร์บริการ ได้ประสานความร่วมมือกับ อำเภอ กันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ดำเนินการจัดเก็บสารพันธุกรรมตาม “โครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยผู้ประสบปัญหาทางทะเบียนราษฎร ซึ่งผ่านการพิจารณาจากสำนักบริหารการทะเบียนแล้ว และมีความจำเป็นต้องใช้ผลการตรวจ สารพันธุกรรมเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร ให้สามารถเข้ารับการตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีประชาชนจากพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอภูสิงห์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอวังหิน อำเภอเบญจลักษ์ อำเภอปรางค์กู่
พื้นที่จังหวัดยโสธร ได้แก่ อำเภอป่าติ้ว อำเภอ มหาชนะชัย พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ อำเภอปราสาท และอำเภอกาบเชิง โดยมีผู้ประสบปัญหาและบุคคลอ้างอิง จำนวนรวม 74 ราย เข้ารับการตรวจสารพันธุกรรม ในครั้งนี้มี ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายอำเภอกันทรลักษ์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ
“นอกจากนี้ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 จะเดินทางไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจัดเก็บสารพันธุกรรมเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้รอรับการตรวจพิสูจน์จำนวนมาก และวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น ดำเนินการจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคลในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม” นายแพทย์ศราวุฒิฯ กล่าว
พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีความมุ่งมั่น ดำเนินงานตาม “โครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร” ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคีเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกับสำนักทะเบียนในพื้นที่ ตั้งแต่การค้นหาสำรวจคนไทยที่ยังไร้สิทธิสถานะ การนำเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย การนำบุคคลเข้ารับการตรวจสารพันธุกรรม และการติดตามผลการพิจารณาแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร
จนกระทั่งได้รับบัตรประชาชนคนไทยและได้รับสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น การได้รับทุนการศึกษา เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้อย่างทั่วถึงทัดเทียมกับบุคคลอื่นบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ทั้งนี้ หากประสงค์ขอรับบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ในด้านใด สามารถขอรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการร่วม One Stop Service สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม โทร 02 142 2646