สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 พ.ย. 65

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 พ.ย. 65

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตรัง (92 มม.) จ.พัทลุง (77 มม.) และกรุงเทพมหานคร (68 มม.)

น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,815 ล้าน ลบ.ม. (76%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,927 ล้าน ลบ.ม. (75%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

สถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี 17 พ.ย. 65 สถานีวัดน้ำ M.7บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,552 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ +112.45 ม.รทก สูงกว่าระดับตลิ่ง +0.45 ม.รทก โดยมีแนวโน้มลดลง

สภาพน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ภาคใต้ 16 พ.ย. 65 -เขื่อนรัชชประภา มีปริมาตรน้ำ 3,746 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 -เขื่อนบางลาง มีปริมาตรน้ำ 928 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64

กอนช. ถอดบทเรียน “บางระกำโมเดล” สู่ “สี่แควโมเดล” เร่งจัดหาพื้นที่รับน้ำหลากเพื่อหน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม.

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยการถอดบทเรียนจาก “บางระกำโมเดล สู่ สี่แควโมเดล” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพิจารณาพื้นที่เป้าหมาย รองรับน้ำหลากในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี เข้าร่วมประชุม อาทิ กรมประมง กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทยานฯ และ กอ.รมน. ณ รร.ท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจแล้ว ยังเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้งได้ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างมั่นคงมากขึ้น มีเป้าหมายหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยการตัดยอดน้ำอย่างน้อย 1,000 ล้าน ลบ.ม.ภายในปี 2566 ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้สูงสุดประมาณ 500 ลบ.ม./วินาที และจะขยายพื้นที่เป้าหมายในการเก็บกักน้ำที่จะดำเนินการเพิ่มเติมภายในปี 2568 รวมประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นจากการใช้ประโยชน์ที่ดินและสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน