กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จับมือ ผู้เกี่ยวข้องเร่งสร้างความเข้าใจ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับใหม่ล่าสุด เรื่อง “สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างถูกต้อง
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับใหม่ล่าสุด เรื่อง “สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 จุดประสงค์หลัก เพื่อปรับปรุงประกาศให้มีมาตรการณ์ที่เหมาะสมกับการใช้ “กัญชา”ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่อดอก ต้องไม่ใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรีนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานการแถลงข่าว ร่วมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับใหม่ล่าสุด เรื่อง “สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565” โดยมี สื่อมวลชน และ ผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กว่า 80 ปีที่เรารู้จักกัญชาในด้านยาเสพติด ดังนั้นจึงเป็นความพยายามที่ทุกภาคส่วนจะนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่การตีตรากัญชา ในเชิงลบมานาน ทำให้สังคมยังมีภาพของผู้ร้ายในตัวกัญชา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมการจำหน่าย การแปรรูปเพื่อการค้า และระหว่างรอ พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….. จำเป็นต้องใช้ประกาศฉบับใหม่ล่าสุด ซึ่งจุดประสงค์หลักของการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 เพื่อปรับปรุงประกาศให้มีมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ประเด็นสำคัญของ “สมุนไพรควบคุม” ตามประกาศฉบับนี้ เน้นเฉพาะส่วนของช่อดอก ภาคประชาชนและผู้ประกอบการ ที่มีการจำหน่ายหรือแปรรูปกัญชาที่ไม่ใช่ส่วนของช่อดอก ท่านสามารถครอบครอง ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย ศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป ได้แต่ต้องปฏิบัติตามประกาศ อย. และกรมอนามัย ที่มีการควบคุมไม่ให้นำช่อดอกมาประกอบอาหารตามประกาศกระทรวงสาะรณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ. 2564 ออกตาม พ.ร.บ.อาหาร ปี2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายและมีการควบคุมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆที่เพิ่งออกมา และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565
กำหนดให้ผู้ประกอบการร้านค้าต้องแสดงป้ายให้ทราบว่าเป็นร้านที่ใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบในอาหาร มีป้ายคำเตือน บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน หากประกอบกิจการสถานที่จำหน่ายอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาติตามมาตรา38 กรณีสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท กรณีสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตรประกอบกิจการโดยไม่มีหนังสือรับรองการแจ้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท กรณีผู้ประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 40 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท
ด้านการใช้ช่อดอกทำเป็นยาหรือปรุงยาเฉพาะรายเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย นั้น แพทย์ แพทย์แผนไทย ทันตแพทย์ แพทย์แผนจีน หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย สามารถใช้ได้ตามมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพ ซึ่งแต่ละสภาวิชาชีพก็มีการควบคุมจรรยาบรรณวิชาชีพอยู่แล้ว และหากจะใช้ช่อดอกมาปรุงหรือใช้เป็นยาเพื่อรักษาผู้ป่วยก็ต้องขอใบอนุญาตให้ถูกต้องเช่นกัน
ในส่วนผู้ที่มีใบอนุญาตเดิมอยู่แล้วก่อนจะมีการออกประกาศฉบับนี้ ให้ใช้ใบอนุญาตดังกล่าวได้จนกว่าใบอนุญาตนั้นจะหมดอายุ โดยนอกจากผู้ที่มีใบอนุญาตดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตแล้ว ยังจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ของประกาศฉบับนี้ด้วย สำหรับมาตรการที่กำหนดในประกาศฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ในส่วนที่เป็นข้อห้ามจะใกล้เคียงและมีบางส่วนเหมือนกับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. เช่น กำหนดพื้นที่ห้ามจำหน่ายวัด หอพัก สวนสาธารณะ และห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นต้น แต่ที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดไว้มากกว่าคือการจดแจ้งการปลูก การขออนุญาตปลูก และการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับการสูบเช่นเดียวกับ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560
ดังนั้นหากมี ข้อสงสัยการขอใบอนุญาต ติดต่อได้ที่ กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์ พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2149 5607-8 หรือ 0 2591 7007 ต่อ 3708, 3713 ( ข่าว ลงวันที่ 14 พย. 2565)