สค.พม. “เตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน รองรับ “พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562”

วันที่ 31 พ.ค. 62 เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม 3 โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธานเปิดการประชุมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน สามารถปฏิบัติงานตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง และร่วมกันกำหนดแนวทางเพื่อขับเคลื่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน”

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ประเทศไทยได้มีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวพบช่องว่างที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานหลายอย่าง จึงได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ….ขึ้น และได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการกำหนดมาตรการทางสังคมเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว รวมทั้งการคุ้มครองป้องกัน เยียวยา การบำบัดฟื้นฟู โดยเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ดังนั้น จึงต้องเตรียมการเพื่อรองรับการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว

นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 จึงได้จัดประชุมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฯ ขึ้น ระหว่างวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2562 โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม เป็นการเสวนา “ชี้แจงแนวทางตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ….” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้แลกเปลี่ยน และเสนอแนะข้อคิดเห็น ข้อสังเกต และแนวทางตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อที่ สค. จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และสำหรับวันที่ 31 พฤษภาคม ได้รับเกียรติจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ) เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562

ซึ่งนอกจากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้แล้ว การเสริมสร้างกลไกการดำเนินงานในทุกระดับ สนับสนุนให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านสาธารณสุข และองค์กรชุมชน ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงผู้ปฏิบัติงานได้รับความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานตามกฎหมาย และมีแนวทางการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความถูกต้องและเข้มแข็ง เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อันนำไปสู่ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย

กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการ คุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดีจังหวัด พนักงานสอบสวน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้แทนองค์กรภาครัฐ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สค. วิทยากร และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 260 คน

 

#####################

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562

“พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองครอบครัว พ.ศ.2562 มีเจตนารมณ์ที่ต้องการจะปิดช่องว่างของ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยพรบ.ฉบับใหม่ ได้ยกเลิกความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่สามารถยอมความได้ แต่ให้มาใช้เป็นคดีอาญาและดำเนินการควบคู่ไปกับการคุ้มครองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเกิดความเกรงกลัวและยับยั้งไม่กระทำผิดซ้ำ”

“กลไกการดำเนินงานครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ : มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธาน มีอำนาจและหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนหลักในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวและการคุ้มครองสวัสดิภาพ ระดับจังหวัด : ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว โดยกำหนดให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเป็นศูนย์ส่งเสริมฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็นศูนย์ส่งเสริมฯ ในระดับจังหวัด ในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวและคุ้มครองสวัสดิภาพ ระดับท้องถิ่น : ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน มีหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของครอบครัว”

“นำหลักการ “Batterd woman syndrome” คือให้สิทธิ์ต่อผู้กระทำความรุนแรง ที่ตนเองเคยถูกกระทำความรุนแรงซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องจนกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง (Batterd woman syndrome) และกลายมาเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง สามารถนำสืบเพื่อพิสูจน์การกระทำดังกล่าวได้ และศาลอาจลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้”

“การทำผิดครั้งเดียวรับผิดสองทาง” คือรับผิดทั้งทางอาญา และเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม”

การร้องทุกข์กล่าวโทษ “ผู้ใดพบเห็นหรือทราบการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ. นี้กำหนด ทำให้ตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายร้องทุกข์” ส่วนผู้ที่กระทำความรุนแรงทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถกล่าวโทษเป็นคดีอาญาได้ทันที และผู้กระทำความรุนแรงสามารถเข้ารับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งหากฝ่าฝืนคำสั่ง ศาลเยาวชนและครอบครัวสามารถสั่งขังได้

“จากกฎหมายเดิมกำหนดให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจะต้องเป็นผู้ร้องทุกข์และยื่นคำร้องคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลเยาวชนและครอบครัวเอง แต่พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฯ กำหนดให้ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยสามารถดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือยื่นคำร้องขอหรือคำแถลงต่อศาลได้โดยตรง”

 

 

##########################