วันที่ 7 ตุลาคม 2565 เวลา 13.30 น. นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบนโยบายสุราษฎร์ธานีทีม สานพลัง บวร ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อเนื่อง วันนี้ที่ “โคก หนอง นา บ้านสวนป่า” ตั้งอยู่ที่ บ้านใน หมู่ที่ 1 ตำบลปากแพรก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายจักรกฤษณ์ ฝั่งชลจิตร์ นายอำเภอดอนสัก พร้อมด้วยนายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสมยศ คงทอง (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) รักษาราชการแทนพัฒนาการอำเภอดอนสัก ร่วมสานพลัง บวร ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อเนื่อง ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังตามสโลแกน “ดอนสักมีดี วิถีพอเพียง”
โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วม ประกอบด้วย หัวหน้าสำนักสงฆ์ถ้ำเขาแดง ผู้อำนวยการสำนักองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้ (ออป.ใต้) (สวนป่ากาญจนดิษฐ์) ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสวนป่า เกษตรอำเภอดอนสัก ประมงอำเภอดอนสัก นายสมชาย แก้วสาธร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านใน ตำบลปากแพรก อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน คณะครู – นักเรียนโรงเรียนบ้านสวนป่า คณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสวนป่า พี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน สื่อมวลชนในพื้นที่ ตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เอกชน จากหน่วยงาน/กลุ่ม/องค์กรต่าง ๆ ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล เข้าร่วมสานพลังโดยพร้อมเพรียงกัน
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้คัดเลือกอำเภอดอนสัก นำทีมโดย นายจักรกฤษณ์ ฝั่งชลจิตร์ นายอำเภอดอนสัก พร้อม 7 ภาคีเครือข่าย เป็นอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอ (Change Agents for Strategic Transformation : CAST) ในระหว่างวันที่ 18 – 23 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการบูรณาการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาด้วยกลไกพื้นที่ 3 ระดับ 5 กลไกการมีส่วนร่วม และการประสานงาน 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อการดำเนินโครงการที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ภายหลังจากการฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว อำเภอดอนสัก ได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ หลายกิจกรรม เช่น แนวทางการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ซึ่งเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดการสร้างความมั่นคงและเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของประชาชนตามภูมิสังคม การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีการจัดทำถังขยะเปียกในทุกครัวเรือน เพื่อคัดแยกและจัดการขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก ได้แก่ เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ เศษหญ้า หรืออื่นๆ ที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ การรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทย เป็นต้น
โดยในวันนี้ ทีมผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงอำเภอดอนสัก พร้อมภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ลงพื้นที่สานพลัง บวร ขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” และการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ณ “โคก หนอง นา บ้านส่วนป่า” โดยมีนายสมชาย แก้วสาทร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลปากแพรก อำเภอดอนสัก พร้อมพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ให้การต้อนรับ นายสมชาย แก้วสาทร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ได้ให้ข้อมูลว่า บ้านใน หมู่ที่ 1 ตำบลปากแพรก อำเภอดอนสัก มีประชากรอาศัยตามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี พ.ศ. 2565 จำนวน 412 คน 154 ครัวเรือน ประกอบด้วย 2 กลุ่มบ้าน/ชุมชน คือ กลุ่มบ้านใน คือ พื้นที่ตลาด ประชาชนประกอบการชีพค้าขาย และกลุ่มบ้านสวนป่า ประชาชนประกอบอาชีพทำการเกษตร พื้นที่ “โคก หนองนา บ้านสวนป่า” เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยได้รับความอนุเคราะห์ที่ดินจากสวนป่ากาญจนดิษฐ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน นายสมชาย แก้วสาทร ในฐานะผู้นำหมู่บ้านจึงได้ร่วมกับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสวนป่า หมู่ที่ 1 ตำบลปากแพรก ดำเนินปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ “โคก หนอง นา” ในพื้นที่ขนาด 4 ไร่ เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ประชาชนในหมู่บ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในพื้นที่ขนาด 4 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์เรียนรู้ จำนวน 5 จุด คือ จุดเรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก การทำถังขยะเปียก การเลี้ยงปลา การเลี้ยงกบ และการปลูกผักสวนครัว ผลผลิตที่ได้จากการขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต ได้ช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤติโควิด – 19 และการช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบาง ตามนโนบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาล ในวันนี้พื้นที่ “โคก หนอง นา บ้านสวนป่า” มีความพร้อมเป็นศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบโคก หนองนา แก่ประชาชนผู้สนใจ มีพืชผัก ผลผลิตทางการเกษตร ให้ประชาชนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโชน์ร่วมกัน
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มอบหมายให้นายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนักวิชาการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และอาสาพัฒนาชุมชน (อสพ.) ร่วมลงพื้นที่สานพลัง บวร ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อเนื่อง ตามแนวทางการขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พระราชทาน (พันธุ์ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1) จำนวน 100 เมล็ด ซึ่งได้รับมอบมาจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช เพื่อส่งเสริมให้มีการขยายพันธุ์และขยายผลเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าในศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา บ้านสวนป่า” เป็นจุดนำร่องในการปลูก ขยายพันธุ์และขยายผล เป็นเมล็ดพันธุ์สะสมสำรองแจกจ่ายให้กับประชาชน นำไปปลูกเป็นแหล่งอาหาร ลดรายจ่ายในครัวเรือน ในวันนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันปลูกขยายพันธุ์เมล็ดพันธุ์พระราชทาน (พันธุ์ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1) เรียบร้อยแล้ว รอวันเก็บเกี่ยวผลผลิตและเมล็ดพันธุ์ในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า ในโอกาสนี้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการถ่ายทำวีดีโอความสำเร็จ (Best Practice) การขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเป็นการสื่อสารให้สังคมรับรู้ต่อไป
อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ส่งเสริมการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2564 ได้จัดกิจกรรมการประกวดหมู่บ้านส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว โดยส่งเสริมให้ครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัว อย่างน้อย 10 ชนิดต่อครัวเรือน และในปี พ.ศ. 2565 ได้ดำเนินกิจกรรมการประกวดหมู่บ้านส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยปรับเกณฑ์การประกวด และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มแปรรูปผลผลิตจากการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น น้ำพริกไตปลาแห้ง, เครื่องแกง, ปลาแดดเดียว เป็นต้น “โคก หนอง นา บ้านสวนป่า” แห่งนี้ จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบที่มีชีวิต เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประชาชนได้มาร่วมเรียนรู้ ร่วมใช้ประโยชน์ และร่วมในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ เกิดความรักความสามัคคี ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
#กรมการพัฒนาชุมชน
#สุราษฎร์ธานีทีม
#CDD
#ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
#การเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชน
#วัดประชารัฐสร้างสุข
ภาพ/ข่าว กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี