กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 กันยายน2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 44/2565 ลงวันที่ 28 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง จากคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าพายุไต้ฝุ่น “โนรู” จะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานีในคืนวันที่ 28 กันยายน 2565

ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักและมีฝนตกหนักมากหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยอิทธิพลของพายุจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกต่อเนื่องสะสม 150 – 250 มิลลิเมตร ประกอบกับปัจจุบันในลำน้ำและแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำมากอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากน้ำท่วมฉับพลัน

จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ในช่วงวันที่ 29 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 จากประกาศฉบับที่ 41/2565 ได้แก่ ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดอุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ภาคกลาง บริเวณจังหวัดลพบุรี และสระบุรี และภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี

2. ผลการดำเนินงาน

วันที่ 28 ก.ย.65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์พายุ “โนรู” ร่วมกับ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สทนช. ถนนวิภาวดีรังสิต

โดยได้มีการเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่พร้อมรับสถานการณ์พายุ “โนรู” อาทิ การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่–กลาง รวมถึงขนาดเล็กในจุดเสี่ยงต่างๆ การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ รวมถึงการให้ข้อมูลจุดเสี่ยงได้รับผลกระทบเพื่อประสานงาน อำนวยความสะดวกจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ที่สำคัญ คือ การแจ้งเตือนประชาชนให้เข้าถึงทุกพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง การระดมสรรพกำลังทหาร พลเรือน เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสาร การอพยพช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด และกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด

3. สถานการณ์น้ำท่วม

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยมีกําลังปานกลาง ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในระหว่าง วันที่ 22 – 28 ก.ย. 65

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 28 จังหวัด ได้แก่  จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตาก พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลําภู ปราจีนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครปฐม