รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมประชุมรับฟังความเห็นประชาชน โครงการศึกษาความเหมาะสมฯ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว จ.สุพรรณบุรี

วันที่ 28 กันยายน 2565 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว จ.สุพรรณบุรี

โดยมี นายชูชีพ พงษ์ไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายชานนท์ เสือพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ เข้าร่วมประชุม

กรมชลประทานได้จัดปัจฉิมนิเทศโครงการฯ โดยมีจุดประสงค์ในการนำเสนอสรุปผลการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี และผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และรับฟังความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงรายงานฉบับสุดท้ายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยได้เสนอแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการได้แก่

1.แผนงานปรับปรุงหัวงานเขื่อนเก็บน้ำกระเสียว

2.การประปรุงระบบชลประทานเดิม แบ่งเป็น งานซ่อมแซมระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำ งานปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ แผนบริหารจัดการใช้น้ำชลประทาน การเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ และแผนเพิ่มต้นทุนน้ำ

เนื่องจากที่ผ่านมาลำห้วยกระเสียวสามารถรับน้ำฝนได้ประมาณ 1,220 ตารางกิโลเมตร แต่พื้นที่มีความลาดชันมาก ฤดูฝนช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม น้ำจึงไหลหลากอย่างรวดเร็วเข้าท่วมพื้นที่ราบตอนล่าง ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้เกิดน้ำท่วมและสร้างความเสียหายประจำทุกปี และในระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานทำให้มีน้ำไม่พอใช้สำหรับการเพาะปลูก กรมชลประทานจึงเร่งทำการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน

สำหรับโครงการดังกล่าว มีพื้นที่รวม 164,852 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 110,844 ไร่ เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตร เกษตรกรจะมีรายได้ที่สูงขึ้น มีความมั่นคงด้านน้ำต้นทุน ช่วยลดรายจ่ายการจัดหาน้ำในสภาวะขาดแคลน อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย