สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 ก.ย.65 65 เวลา 7.00 น.

+ ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

+ ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.ชัยภูมิ (105) จ.ปราจีนบุรี (99) และ จ.พะเยา (94)

+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 58,226 ล้าน ลบ.ม. (71%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 50,760 ล้าน ลบ.ม. (71%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 14 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา แม่มอก ทับเสลา กระเสียว อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ขุนด่านฯ คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล และบึงบระเพ็ด

+ ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 42/2565 เรื่อง เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ดังนี้

สถานีนครพนม จังหวัดนครพนม ปัจจุบันระดับน้ำ +137.85 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ต่ำกว่าตลิ่ง 5.11 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 ประมาณ 1.50 -2.00 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

สถานีมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันระดับน้ำ +130.76 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ต่ำกว่าตลิ่ง 5.96 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 ประมาณ 1.50 -2.00 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

สถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันระดับน้ำ +98.78 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ต่ำกว่าตลิ่ง 4.75 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ประมาณ 2.00 – 2.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

+ กอนช.ระดมกำลังศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ รับมือพายุโซนร้อน “โนรู” (NORU) คาดเคลื่อนตัวเข้าสู่ไทยทางภาคอีสาน 28 ก.ย.นี้

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้สั่งการให้ สทนช.ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์เพื่อรับมือและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของพายุ “โนรู” (NORU) อย่างใกล้ชิด คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามในช่วงวันที่ 27-28 ก.ย.นี้ และมีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในวันที่ 28 ก.ย. 65

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันนี้ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อระดมแผนการรับมือและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุดและสามารถเข้าเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

พื้นที่ภาคกลาง ศูนย์การบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง เตรียมเดินหน้าจัดเวทีสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งชี้แจงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและการคาดการณ์ ตลอดจนเกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่ง การปลูกข้าวเหลื่อมเวลา มาตรการส่งเสริมการดำรงชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่รับน้ำ และการให้ความช่วยเหลือและการชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัย พร้อมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน