กองทัพเรือ–UTA ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ “สนามบินอู่ตะเภา” กองทัพเรือ และ “สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา”

กองทัพเรือ–UTA ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ “สนามบินอู่ตะเภา” กองทัพเรือ และ “สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา” ตามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกร่วมกัน

วันนี้ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๕ พลเรือเอก สมประสงค์  นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนจากกองทัพเรือ และนายคีรี  กาญจนพาสน์  ประธานกรรมการบริหาร ผู้แทนจากบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ “สนามบินอู่ตะเภา” กองทัพเรือ และ “สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา” ตามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกร่วมกัน(Joint Use Agreement: JUA) ณ อาคารราชนาวิกสภา กองทัพเรือ

โดยมีนายธาริศร์  อิสสระยั่งยืนรองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมลงนามเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ “สนามบินอู่ตะเภา” กองทัพเรือ และ “สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา” ตามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกร่วมกัน (Joint Use Agreement : JUA)

พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า บันทึก JUA ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) (คู่สัญญาฝ่ายรัฐ) กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (บริษัท UTA) (เอกชนคู่สัญญา)

ซึ่งทางวิ่งที่ ๑ สนามบินอู่ตะเภา กองทัพเรือได้ใช้ประโยชน์ในด้านความมั่นคงมาโดยตลอด แต่เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาประเทศและเพื่อเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล จึงได้ใช้งานในเชิงพาณิชย์ควบคู่กันไป ตามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ผ่านมากองทัพเรือได้มีการเจรจากับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) มาอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน ซึ่งบันทึกข้อตกลงฉบับนี้จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์และเกิดประโยชน์ร่วมกันทั้ง ๒ ฝ่าย ต่อไป

นายคีรี  กาญจนพาสน์  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด กล่าวว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลง JUA ร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ ๓ และจะทำให้บริษัทฯ สามารถใช้ทางวิ่งที่ ๑ สนามบินอู่ตะเภา เพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์และเพื่อสนับสนุนการให้บริการของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกรวมถึงสิทธิอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลง JUA โดยไม่กระทบกับพันธกิจและการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือ

ที่สำคัญการลงนามในครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ให้เติบโตขึ้นอย่างมากและเป็นที่รู้จักทั่วโลก ผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีให้กับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ขยายการลงทุนมาสู่พื้นที่อีอีซี ทำให้เกิดการสร้างรายได้และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” เพื่อสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย

นายธาริศร์  อิสสระยั่งยืน รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ไปเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๓

ถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ ๓ ของกรุงเทพ” โดยมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้แก่ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา

การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะมี ๒ ทางวิ่ง โดยปัจจุบันทางวิ่งที่ ๑ กองทัพเรือเป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ ในส่วนทางวิ่งที่ ๒ และทางขับที่เกี่ยวข้อง รัฐมีหน้าที่ดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุนใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเอกชนมีหน้าที่พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ ๖๐ ล้านคนต่อปี

การลงนาม JUA ในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกข้อตกลงการใช้ประโยชน์ทางวิ่งที่ ๑ เพื่อให้กองทัพเรือซึ่งมีภารกิจทางด้านความมั่นคง และเอกชนร่วมลงทุนซึ่งมีหน้าที่ในการดำเนินงานสนามบินเชิงพาณิชย์ สามารถร่วมกันใช้ประโยชน์สนามบินอู่ตะเภาได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยให้มีความสอดคล้องกับภารกิจและวัตถุประสงค์ของทั้งสองฝ่าย

การลงนาม JUA ระหว่างกองทัพเรือและบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด จึงถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญอีกขั้นของการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดย สกพอ. ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐของโครงการฯ ตระหนักถึงความสำคัญและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และนโยบายของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไปในอนาคต