“สินิตย์” รมช.พาณิชย์ เผย “โคราช” ครองแชมป์จังหวัดที่มีสินค้า GI มากที่สุดในไทยพร้อมยกเป็นต้นแบบความสำเร็จในการใช้ระบบ GI เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดปีละกว่า 550 ล้านบาท
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศรับขึ้นทะเบียน “ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย” เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 10 ของจังหวัดนครราชสีมา นับเป็นจังหวัดที่มีสินค้า GI มากที่สุดในประเทศไทย โดย รมช.พาณิชย์ ยกเป็นจังหวัดต้นแบบในการนำระบบ GI มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน สร้างโอกาสทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI “ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย”ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีอัตลักษณ์โดดเด่นคือ เป็นผ้าไหมทอมือชนิด 2 ตะกอ ทอลายประณีตสวยงามเป็นลายตารางแบบดั้งเดิม ประกอบด้วยเส้นไหม 5 สีเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ สีแดง สีดำ สีเขียว สีส้ม และสีขาว ผลิตในพื้นที่อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา โดยมียอดการผลิตกว่า 8,000 ผืนต่อปี”
นายสินิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เกษตรกรและผู้ประกอบการ GI ในจังหวัดนครราชสีมามีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ผนวกกับหน่วยงานในท้องถิ่นให้ความสำคัญกับส่งเสริมและคุ้มครองสินค้า GI เป็นอย่างดี โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างใกล้ชิด ทั้งการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียน การควบคุมการผลิตสินค้า GI ให้ได้มาตรฐาน การเพิ่มศักยภาพทางการค้าให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ ตลอดจนเฟ้นหาสินค้าใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้าสู่ระบบการคุ้มครอง GI
ส่งผลให้ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีสินค้า GI มากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 10 สินค้า ประกอบด้วย กาแฟดงมะไฟ กาแฟวังน้ำเขียว ไวน์เขาใหญ่ ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ มะขามเทศเพชรโนนไทย ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ผ้าไหมปักธงชัย เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน และผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย โดยสินค้า GI ทั้ง 10 รายการสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่จังหวัดได้กว่า 550 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นจังหวัดต้นแบบในการนำระบบ GI มายกระดับสินค้าท้องถิ่นจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอเชิญทุกท่านร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย ของดีมีคุณภาพที่คงคุณค่า อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้อย่างเด่นชัด โดยติดตามข้อมูลสินค้า GI รายการต่างๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ที่ เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368
—————————————-
กรมทรัพย์สินทางปัญญา
16 กันยายน 2565