วันที่ 27 สิงหาคม 2565 ปลัดเกษตรฯ นำทีมเกษตรฯ 25 จังหวัดภาคกลาง เยี่ยมชมบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ต้นแบบการผสมผสานของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรฯ 25 จังหวัดภาคกลาง เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TEGH) ณ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี
โดยมีคุณเฉลิม โกกนุทาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TEGH และคณะให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งนำเยี่ยมชมการดำเนินงานของ TEGH ซึ่งเป็นผู้ผลิตและแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันรายใหญ่ในภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนประเภทพลังงานชีวภาพแบบครบวงจร รวมถึงใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตเน้นการพัฒนาในรูปแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อเติบโตไปพร้อมกับชุมชน และรักษาสภาพแวดล้อมอย่างสมดุล
TEGH มีการดำเนินงานใน 3 กลุ่มธุรกิจ
1. ธุรกิจยางพารา โดยเป็นผู้ผลิตน้ำยางข้น ยางแท่ง และยางแท่งเกรดพิเศษ และเป็นผู้ประกอบการยางพารารายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก
2.ธุรกิจปาล์มน้ำมันในการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และเป็นโรงงานสกัดน้ำมันเมล็ดในปาล์มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นำกากของเหลือทะลายปาล์ม แปรรูปเป็นเยื่อกระดาษ
3. ธุรกิจพลังงานทดแทน โดยมีระบบผลิตก๊าซชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้เป็นพลังงานทดแทน LPG ในกระบวนการอบยางแท่งได้ถึงร้อยละ 85 และสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้อีกกว่า 4 เมกกะวัตต์ และรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยแบคทีเรีย
ดร.ทองเปลว เปิดเผยว่า การเยี่ยมชมและศึกษาดูงานวันนี้ ทางบริษัท TEGH ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และได้แสดง ให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นบริษัทผู้นำในการผลิตวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน (sustainable material) ในตลาดของประเทศไทย และพร้อมสำหรับการเติบโตสู่ตลาดโลก
รวมถึงยังมีความตั้งใจที่จะเติบโตไปพร้อมกับชุมชนและเกษตรกร พร้อมอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล สำหรับความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนี้มีการทำข้อตกลงความร่วมมืออยู่สองโครงการ
1.โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม” (จากระยะที่ 1 สู่ระยะที่ 2) พื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่
2.โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ การยางแห่งประเทศไทย ในโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาการปลูกพืชแซมในสวนยางพารา
“กระทรวงฯเกษตรฯ พร้อมสนับสนุน แลกเปลี่ยนข้อมูลและนวัตกรรมต่างๆ กับทาง TEGH โดยเฉพาะเกี่ยวกับโมเดล Bio-Circular-Green Economy หรือการผสมผสานของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งเป็นนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ โดยทาง TEGH ได้ให้ความสนใจกับความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ผสานกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG)
โดยการสร้างเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทริน์ ซึ่งจะใช้เป็นศูนย์กลางการสร้างบุคลากร เทคโนโลยีและนวัตกรรม รองรับการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพขั้นปลาย ระดับ BIO MEDICAL HUB (ชีวการแพทย์) ที่มีมูลค่าสูงในทางเศรษฐกิจ และจะสร้างประโยชน์ต่อเกษตรกร และประเทศไทย” ดร.ทองเปลว กล่าว