วันที่ 16 สิงหาคม 2565เวลา 13.00 น. ที่วัดอินทราราม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ (อ่านว่า นาค-คะ-มาด) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังและนำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค มามอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมจำนวน 128 ชุด
โดยมี นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี นายกฤษณ์ แก้วทองหลาง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปลัดอาวุโส รักษาการแทนนายอำเภอบางบาล และผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ร่วมให้การต้อนรับ
โดย นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “มู่หลาน” ในช่วงวันที่ 11-13 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองต่าง ๆ เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ริมน้ำ และได้รับผลกระทบ รวม 4 อำเภอ 20 ตำบล 84 หมู่บ้าน 1,961 ครัวเรือน ได้แก่ อำเภอเสนา บางบาล ผักไห่ และบางไทร
ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในเบื้องต้นแล้ว ดังนี้ จัดตั้งวอร์รูมและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งมีศูนย์ป้องกันและบรรเทาธารณภัยเขต ๒ สุพรรณบุรี ให้การสนับสนุนนำเรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์ รถขนย้ายผู้ประสบภัยและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 14 นิ้ว จำนวน 4 เครื่อง ตลอดจน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เชิญถุงยังชีพพระราชทานมามอบให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเสนา และอำเภอผักไห่ จำนวน 918 ถุง
ด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ณ ขณะนี้ สามารถดูแลได้ ซึ่งเราได้พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ราบลุ่มอาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง โดยการบูรณาการจากทุกภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย
1) ขอให้มีการบริหารจัดการน้ำให้เหลือน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง
2) การบริหารจัดการกรณีน้ำท่วมให้คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตประชาชนเป็นสำคัญ
3) ให้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ เตรียมความพร้อมกำลังพล เครื่องจักร และดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง
4) กรณีเกิดสาธารณภัยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสำรวจและรายงานให้จังหวัดทราบ เพื่อดำเนินการของบกลางจากรัฐบาล วงเงิน 2,700 ล้านบาท
5) การเยียวยาช่วยเหลือต้องทำอย่างรวดเร็ว อย่าให้ล่าช้า โดยให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายให้ถูกต้อง ซึ่งมีงบประมาณรองรับอยู่แล้ว
6) มีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทางเพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ข่าว : #สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา