รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดพิจิตร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม โดยมี นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการสำคัญ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ณ แขวงทางหลวงพิจิตร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดพิจิตรในครั้งนี้มีภารกิจที่สำคัญ ได้แก่ การติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาด้านคมนาคมที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ตามที่กระทรวงคมนาคมได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคม การส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ โดยเร่งรัดการเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะครอบคลุมทุกมิติทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ดังนี้

มิติด้านการพัฒนาทางถนน มีโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท การศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP และการเชื่อมโยงการขนส่งสาธารณะ รายละเอียดดังนี้

1. การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจังหวัดพิจิตร
1.1 ทางหลวงหมายเลข 11 แยกอินทร์บุรี – อำเภอสากเหล็ก ตอนอำเภอทับคล้อ – อำเภอสากเหล็ก ระยะทาง 30.900 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 41.93 คากว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566
1.2 ทางหลวงหมายเลข 11 อำเภออินทร์บุรี – อำเภอสากเหล็ก ตอนไดตาล – เขาทราย ตอน 3 ระยะทาง 19.523 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 26.29 คากว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567
1.3 ทางหลวงหมายเลข 115 กำแพงเพชร – พิจิตร ตอนตำบลบึงบัว – บ้านคลองโนน ระยะทาง 9.150 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567
1.4 ทางหลวงหมายเลข 115 กำแพงเพชร – พิจิตร ตอนบ้านเนินสมอ – สี่แยกสากเหล็ก ระยะทาง 10.860 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 25.46 คากว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567
1.5 ทางหลวงหมายเลข 1067 บ้านโพทะเล – สี่แยกโพธิ์ไทรงาม ระยะทาง 11.400 กิโลเมตร (ปรับเป็นมาตรฐานทางชั้น 1) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 1.42 คากว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568
1.6 โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงหมายเลข 113 ตอนเขาทราย – ฆะมัง กม.81+400 – 84+600 โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 30.200 กิโลเมตร ผลงานก่อสร้าง ร้อยละ 62.55
1.7 โครงการก่อสร้างปรับปรุงแยกทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 1070 และทางหลวงหมายเลข 1289 โดยปรับปรุงทางแยกและเพิ่มมาตรฐานชั้นทางหลวง ผลงานก่อสร้าง ร้อยละ 34.68
1.8 โครงการยกระดับความปลอดภัยทางแยกขนาดใหญ่ ทางหลวงหมายเลข 113 กม.81+202 (แยกศิริวัฒน์) โดยก่อสร้างปรับปรุงเปลี่ยนผิวจราจรทางแยกเป็นผิวคอนกรีต ผลงานก่อสร้าง ร้อยละ 82.90
1.9 โครงการยกระดับความปลอดภัยทางแยกขนาดใหญ่ ทางหลวงหมายเลข 115 กม.86+308 (แยกดงชะพู) โดยก่อสร้างปรับปรุงเปลี่ยนผิวจราจรทางแยกเป็นผิวคอนกรีต ผลงานก่อสร้าง ร้อยละ 88.20
นอกจากนี้ ยังมีงานบำรุงรักษาทางหลวงและงานอำนวยความปลอดภัย จังหวัดพิจิตร ที่ได้รับงบประมาณปี 2565 จำนวน 24 แผน เป็นเงิน 256.298 ล้านบาท การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นแผนปีงบประมาณ 2566 จำนวน 4 โครงการ เป็นเงิน 160 ล้านบาท และงานบำรุงรักษาทางหลวงและงานอำนวยความปลอดภัย จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นแผนปีงบประมาณ 2566 จำนวน 22 แผน เป็นเงิน 294.9 ล้านบาท

2. การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมมีโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 จำนวน 71 โครงการ วงเงินงบประมาณ 514.290 ล้านบาท แบ่งออกเป็น งานก่อสร้างทางและสะพาน 9 โครงการ งานบำรุงรักษาทาง 27 โครงการ และงานอำนวยความปลอดภัย 25 โครงการ ส่วนแผนพัฒนาทางหลวงชนบทจังหวัดพิจิตรในอนาคต มีจำนวน 30 โครงการ วงเงินประมาณ 245.751 ล้านบาท

3. แผนแม่บท MR-MAP โครงข่ายคมนาคมที่ประกอบไปด้วยถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ พัฒนาอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ภาคใต้กับภาคอื่นของประเทศไทยให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยแผนการดำเนินการมีดังนี้
– ปี 2564 แผนแม่บทโครงข่าย MR-MAP ได้ศึกษาแล้วเสร็จ และคณะกรรมการจัดการจราจรทางบกได้เห็นชอบแล้ว
– ปี 2565 หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบในรายโครงการต่อไป

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเส้นทางเบื้องต้น ได้แก่ MR2 (ช่วงชลบุรี – นครราชสีมา) MR5 (ช่วงนครราชสีมา – อุบลราชธานี) และ MR8 (ช่วงชุมพร – ระนอง) โดยจะเริ่มก่อสร้างเส้นแรกได้ในช่วงปี 2566 และเปิดให้บริการได้ในปี 2568

มิติการพัฒนาทางราง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2560 – 2564) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 และแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ และจัดทำรายงาน EIA นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ในระยะถัดไปอีกจำนวน 12 เส้นทาง โดยแบ่งเป็น แผนพัฒนาในปี 2565 – 2569 จำนวน 1 โครงการ สุราษฎร์ธานี – ท่านุ่น ระยะทาง 163 กิโลเมตร งบประมาณ 44,218 ล้านบาท (อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม.) แผนพัฒนาในปี 2570 – 2579 จำนวน 3 โครงการ โดยการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) เส้นทางปากน้ำโพ – เด่นชัย อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และแพร่ ระยะทาง 281 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 43 สถานี ย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ

มิติการพัฒนาทางน้ำ มีโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง จังหวัดพิจิตร จำนวน 8 งาน ซึ่งกรมเจ้าท่าดำเนินการแล้วเสร็จ การขุดรอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ และโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงสีไฟ ระยะที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 และระยะที่ 2 ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565

มิติการพัฒนาทางอากาศ จังหวัดพิจิตรอยู่ห่างจากจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 90 กิโลเมตร สามารถเดินทางใช้ท่าอากาศยานพิษณุโลกได้อย่างสะดวก ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานพิษณุโลก เป็นงานก่อสร้างลานจอดรถยนต์ และปรับปรุงกายภาพท่าอากาศยานพิษณุโลก ซึ่งผลการดำเนินงานเดือนมิถุนายน 2565 มีความก้าวหน้าร้อยละ 33.69

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีโครงการเพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งสาธารณะ จากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิจิตร ประกอบด้วย รถหมวด 1 จำนวน 2 เส้นทาง รถหมวด 2 จำนวน 2 เส้นทาง รถหมวด 3 จำนวน 6 เส้นทาง รถหมวด 4 จำนวน 5 เส้นทาง

ทั้งนี้ เมื่อโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริม กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี