อินดา พาเหรด 2019 งานแสดงผลงานนิสิตคณะสถาปัตย์ฯ

หากใครได้มีโอกาสเดินผ่านสถานีแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน ระหว่างวันที่ 7 – 11 พ.ค. นี้จะมีโอกาสได้เห็นนิทรรศการขนาดใหญ่จัดเต็มพื้นที่บริเวณชั้น 3  ในชื่องาน อินดา พาเหรด 2019 (INDA Parade 2019)  ซึ่งเป็นการแสดงผลงานของน้องๆ นิสิต จากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม(หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (International Program in Design and Architecture – INDA) กว่า 320 คนจากทุกชั้นปีมาแสดงผลงานโปรเจคของตัวเอง สู่สายตาคนภายนอกให้ได้เห็นว่าพวกเขามี “ไอเดีย”และความสามารถที่ “น่าทึ่ง” แค่ไหน!!

ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาชาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม(หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (INDA) กล่าวว่า “หลักสูตรของอินดา เริ่มสอนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จากเดิมเราจัดแสดงโปรเจคจบการศึกษากันภายในคณะ ซึ่งโปรเจคเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่ชี้วัดการเรียนรู้ทั้งหมดของนิสิตที่ผ่านมาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างตลอดปีการศึกษา

โปรเจคจบสำหรับพวกเขาคือสิ่งที่สำคัญที่สุดและเราเองก็ไม่อยากให้ผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยความพยายามของนิสิตเหล่านี้ ถูกจำกัดอยู่แค่การจัดแสดงภายในมหาวิทยาลัย ใช้เพียงภาพเอาไปแปะบอร์ดนิทรรศการมองเห็นคุณค่ากันเองระหว่างนักศึกษาและอาจารย์

เราจึงคิดการจัดงานอินดา พาเหรดนี้ขึ้นมา เพื่อนำผลงานของนักศึกษาทุกชั้นปีมาจัดแสดงสู่สาธารณะชนให้คนไทย ชาวต่างชาติ และน้องๆ ระดับมัธยมที่กำลังมองหาที่เรียนต่อ ได้เข้ามาเห็นผลงานและทำความรู้จักกับอินดามากขึ้น ในขณะเดียวกันงานนี้คือศูนย์รวมความร่วมมือของทุกคนในอินดา เป็นงานที่น้องๆ จะได้เห็นงานของรุ่นพี่ พร้อมๆ กับการดีเฟนด์ผลงานของตัวเองกับอาจารย์ต่างชาติ เป็นงานที่สะท้อนความเป็นอินดาทั้งหมดออกมา

อินดาไม่ได้เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนจบไปแล้วต้องไปเป็นสถาปนิก แต่เรามุ่งเน้นให้นักศึกษาของเรามีความคิดสร้างสรรค์ที่จะออกแบบสิ่งใหม่ๆ ในระหว่างที่นิสิตของเราเรียนเขาจะได้เรียนรู้หลายๆอย่าง เพื่อให้เขาค้นพบตัวเองว่าเมื่อเรียนจบออกไปแล้วเขาจะได้ทำงานอย่างที่เขาถนัดและรักที่จะทำ

โดยมีองค์ความรู้ด้านการออกแบบและวิธีคิดสร้างสรรค์ที่พร้อมต่อยอดในงานสายอื่นที่เขาต้องการได้  เราไม่ได้ผลิตแค่คนที่จบออกไปแล้วต้องไปเป็นสถาปนิก แต่นิสิตของเราจบไปแล้วสามารถทำได้ทุกอย่างในโลกของการทำงาน เปรียบเสมือนโรงงานผลิตวัตถุดิบอาหารชั้นดี ที่เอาไปประกอบอาหารอะไรก็อร่อย”

นางสาวเติมรัก ชัยวัฒน์ นิสิตชั้นปี 1 สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม(หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความสนใจด้านการออกแบบสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและเคยส่งผลงานการประกวดเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในโครงการ “HONDA ASIMO SUPER IDEA CONTEST 6” มาแล้ว ในวันนี้ เติมรัก ก็เลือกที่จะเรียนต่อที่อินดา และมีผลงานการออกแบบของเธอในงานอินดา พาเหรด 2019 นี้อีกด้วย

“หนูมีความสนใจในดนตรีแจ็สมานานแล้ว อยากจะออกแบบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดนตรี แล้วสะท้อนออกมาให้คนอื่นได้เห็นภาพในความคิดของเราว่าเป็นอย่างไร จึงกลายเป็นที่มาของผลงานโดยเริ่มจากเราเข้าไปดูงานที่บาร์แจ็สแห่งหนึ่งเพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานจนได้เป็นม่านน้ำตกที่สามารถเปลี่ยนสีตามเสียงของตัวโน้ต

สิ่งที่เราต้องทำก็คือโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ให้ตัวโน้ตแต่ละตัวแสดงสีตามความคิดความรู้สึกของเรา เมื่อนักดนตรีบรรเลงเพลงผู้ฟังไม่เพียงแต่จะได้ยินเสียงที่ไพเราะเท่านั้นแต่จะได้เห็นสีสันของตัวโน้ตปรากฏสู่สายตาอีกด้วย”

นายปลื้ม พงษ์พิศาล นิสิตชั้นปี 4 สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นักแสดงซีรีส์ “Kiss Me Again จูบให้ได้ถ้านายแน่จริง” เล่าถึงชีวิตการเรียนที่อินดา ของเขาว่า “ผมรู้จักอินดาเพราะรุ่นพี่ที่เรียนที่นี่ อีกอย่างหนึ่งตัวผมเองอยากเข้าเรียนต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อยู่แล้ว ตอนแรกผมลังเลอยู่เหมือนกันว่าจะเข้าเรียนภาคไทยหรืออินเตอร์ดี

จนได้มีโอกาสมาเห็นงานอินดา พาเหรด ก็ทำให้ผมตัดสินใจได้ทันทีว่าควรเรียนต่อที่นี่ เพราะผมคิดว่าการเลือกเรียนเฉพาะทางเพื่อเรียนจบแล้วจะต้องทำงานด้านนี้เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับผม เพราะอนาคตเราอาจจะไปเจอสิ่งที่ตรงกับความชอบของเรามากกว่า และอาจจะเร็วเกินไปที่เราจะเลือกว่าเราถนัดอะไรมากที่สุด

สำหรับการเรียนที่อินดาจะไม่ได้เน้นว่าเรียนสถาปัตย์แล้วจะต้องจบออกไปเป็นสถาปนิกเพียงอย่างเดียว นิสิตจะได้เรียน ได้ฝึกในทุกๆอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการออกแบบ เน้นในเรื่องของการคิดสร้างสรรค์ ลงมือทำและแก้ปัญหา วันข้างหน้าถ้าผมได้เจอสายงานที่คิดว่าตรงกับความชอบความถนัดของผมมากที่สุด ก็ยังได้ใช้ความรู้ที่เรียนต่อยอดให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งตลอด 4 ปีที่เรียนเรียกได้ว่าตัดสินไม่ผิดเลยที่ได้เลือกเรียนที่อินดาครับ”

เรียกได้ว่างานอินดา พาเหรด 2019 จึงไม่ได้มีเพียงแค่การแสดงโปรเจคจบของนิสิตเท่านั้น แต่เป็นงานที่สะท้อนความเป็นอินดา ที่มีความอินดี้ เปี่ยมด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ ความสวยงาม และเรื่องราวที่น่าสนใจในทุกผลงานของนิสิตทุกคน หากคุณได้ดูได้ฟังจะต้องประทับใจในงานนี้อย่างแน่นอน