พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ฉบับที่ 210 วันที่ 12 – 18 พ.ค. 62

“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 28 เม.ย. 62 มีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 93 ราย เสียชีวิต 12 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คืออายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ  ภาคที่พบมากที่สุดคือภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และภาคกลาง  ส่วนจังหวัดที่พบมากที่สุดคือ นครสวรรค์ รองลงมาคืออุตรดิตถ์ อุทัยธานี และน่าน”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมการกินอาหาร จึงขอเตือนให้ประชาชนต้องระมัดระวังโรคไข้หูดับ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โรคไข้หูดับ ติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา จากการกินเนื้อหมูดิบ ปรุงไม่สุกหรือเลือดหมูดิบ โดยเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อไม่กี่ชั่วโมงถึง 5 วัน อาการมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน ถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ รุนแรงถึงติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงคือ เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ตับแข็ง และโรคมะเร็ง เป็นต้น ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบพบแพทย์และบอกประวัติการกินหมูดิบ เนื่องจากวินิจฉัยและรักษาเร็วจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้  การป้องกันโรค คือหลีกเลี่ยงการกินเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ให้กินหมูสุกไม่ใส่เลือดดิบราดในอาหาร เลือกซื้อเนื้อหมูที่สด ไม่มีสีแดงคลํ้าหรือมีเลือดคั่งมากๆ ผ่านร้านค้าที่มีใบรับรองการนำเนื้อสุกรจากโรงงานฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐาน ไม่กินเนื้อหมูที่ตายเอง สำหรับผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าหรือบู๊ทยาง สวมถุงมือ ใส่แว่นกันเลือดกระเด็นเข้าตา รวมถึงสวมเสื้อปกปิดมิดชิดระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค