กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2565 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 21 – 25 กรกฎาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำและการเร่งระบายน้ำของสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งสถานีสูบน้ำได้เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล พร้อมควบคุมระดับน้ำภายในคลองให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้มากและเร็วขึ้น
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 22 – 23 ก.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 24 – 28 ก.ค. ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง
4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 45,197 ล้าน ลบ.ม. (55%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 39,282 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,441 ล้าน ลบ.ม. (63%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,474 ล้าน ลบ.ม. (49%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่จาง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนกิ่วลม
เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนน้ำพุง