29 มิถุนายน 2565 ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 4 พร้อมคณะ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย, ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์, นายวันชัย ศารทูลทัต, ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อักขราทร จุฬารัตน, พลอากาศเอกวิสุรินทร์ มูลละ, ศาสตราจารย์ ดร.ไผทชิต เอกจริยกร และฝ่ายเลขานุการ
ในโอกาสเยี่ยมชมภารกิจของ GISTDA และรับฟังความสำเร็จและเป้าหมายของแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) ของประเทศไทยจากโครงการ THEOS-2 พร้อมชมดาวเทียม THEOS-2A ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม ในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ GISTDA ได้นำเสนอบทบาทขององค์กรในการทำหน้าที่เป็น Active Facilitator ที่สามารถทำงานร่วมกันได้กับทุกภาคส่วนอย่างไร้ขีดจำกัด และเชื่อมประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน 3 แนวทางดำเนินงานที่สำคัญ ประกอบด้วย
1) การสนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถสร้างดาวเทียมระดับ industrial grade ในประเทศไทยภายในระยะเวลา 5 ปี โดยมี local content 40% ของมูลค่า
2)การนำวัสดุในประเทศไทยมาใช้ในการผลิตดาวเทียม และอุปกรณ์ที่สามารถนำขึ้นไปใช้งานบนห้วงอวกาศได้
3)การถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ให้แก่ภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างเทคโนโลยีภายในประเทศในเชิงพาณิชย์ได้
จากนั้น ปิดท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน ในประเด็นแนวทางการผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ….” ตามที่ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป