การรถไฟฯ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังร่วมลงนามเอ็มโอยู ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์

การรถไฟฯ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังร่วมลงนามเอ็มโอยู ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เวลา 15.00 น. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และรองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม

โดยมีนายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟฯ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมเป็นสักขีพยานลงนามณ ห้องปฏิบัติการ ชั้น 3 อาคารตึกบัญชาการรถไฟ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์กับสังคมและประชาชน รวมถึงบุคลากรของการรถไฟฯ ในการเข้าถึงระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ด้วยแนวคิดการให้บริการ “การแพทย์ทางไกลและคลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่ทางรถไฟ

การรถไฟฯ ได้ดำเนินแนวทางในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการ ”การวิจัยและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์นี้ เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนและสังคม รวมถึงบุคลากรของการรถไฟฯ และครอบครัว การรถไฟฯและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
จึงได้ร่วมมือกัน นำศักยภาพของแต่ละฝ่ายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยแนวคิดการให้บริการการแพทย์ทางไกล และคลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่ทางรถไฟ

โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญและใส่ใจต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากรของการรถไฟฯ และครอบครัว รวมทั้ง ประชาชนทั่วไป ที่อยู่ห่างไกล เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านการแพทย์ สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ทำให้เกิดทางเลือกในการรักษา ตลอดจนสามารถเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางได้อย่างสะดวกด้วยปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการสอบถามปัญหาสุขภาพทั่วไปผ่าน Chatbot ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย จะสามารถเข้าถึงการแพทย์เฉพาะทางได้อย่างสะดวก และสามารถนัดตรวจติดตามโดยผ่านทางแอปพลิเคชัน

และในอนาคต การรถไฟฯ จะนำตู้รถไฟที่มีอยู่มาดัดแปลงเป็นตู้รถไฟคลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่ทางรถไฟโดยจะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่การแพทย์เข้าถึงได้ยาก เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมอีกทาง

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการให้บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาด้านการรักษา การให้คำแนะนำหรือการสอบถามข้อมูลปัญหาด้านสุขภาพทั่วไป อาทิ อาการเจ็บป่วย และการวินิจฉัยเบื้องต้น ตลอดจนแนะนำแนวทางการรักษาที่เป็นไปได้ ผ่านระบบ chatbot ซึ่งเป็นการสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพทั่วไปช่วยให้ประชาชน บุคลากรของการรถไฟฯ และครอบครัว สามารถเข้าถึงการแพทย์เฉพาะทางได้อย่างสะดวก และสามารถนัดตรวจติดตามโดยผ่านทางแอปพลิเคชันได้ส่วนการจัดทำคลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่ทางรถไฟ (Mobile polyclinic coach)

การรถไฟฯ จะนำตู้รถไฟมาดัดแปลงให้เป็นตู้รถไฟคลินิกเคลื่อนที่ พ่วงไปกับขบวนรถในเส้นทางต่าง ๆ ให้การรักษาแก่ผู้มีความจำเป็นทางการแพทย์ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะนำคณะแพทย์เฉพาะทาง ลงพื้นที่ออกหน่วยตรวจรักษาให้กับบุคลากรของการรถไฟฯ และครอบครัว ตลอดจนประชาชนพื้นที่ห่างไกลในเส้นทางภาคใต้เป็นพื้นที่นำร่อง จากนั้นจะเพิ่มบริการไปเส้นทางอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้อย่างทัดเทียมกัน

“การรถไฟฯ มีนโยบายสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรม CSR ตามแนวทางในการดำเนินกิจการอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการร่วมมือทางการแพทย์ครั้งนี้ จะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนใกล้เคียงพื้นที่สายทางรถไฟได้มีสุขภาพอานามัยที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป”